รมว.พม. สั่งการผู้บริหารเร่งเดินหน้ายกระดับผู้บริบาลอาชีพ เชื่อมั่นศักยภาพไทยพร้อมให้การดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่น...D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

รมว.พม. สั่งการผู้บริหารเร่งเดินหน้ายกระดับผู้บริบาลอาชีพ เชื่อมั่นศักยภาพไทยพร้อมให้การดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่น...D

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้เกี่ยวข้อง รับฟังบรรยายและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ นางสาววาดดาว สุขถิ่นไทย ผู้มีประสบการณ์การทำงานดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่น พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้บริหารกระทรวง พม. เร่งเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผู้บริบาลอาชีพ (Formal (paid) caregiver) และช่วยหาช่องทางในการส่งผู้บริบาลอาชีพมายังประเทศญี่ปุ่น



นายจุติ กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้ารับการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุตามระยะเวลาที่หลากหลาย เช่น หลักสูตร 70 ชั่วโมง 130 ชั่วโมง 420 ชั่วโมง และ 510 ชั่วโมง ซึ่งตนมองว่าผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะยาวตั้งแต่ 420 ชั่วโมงขึ้นไป สามารถฝึกฝนทักษะภาษาเพิ่มและไปทำงานในต่างประเทศได้ อีกทั้งจากการประชุมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการศึกษาดูงานด้านที่อยู่อาศัยและการดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการพูดคุยกับนางสาววาดดาวฯ ในวันนี้ ทำให้ตนเข้าใจถึงสถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งเห็นว่า ตลาดแรงงานสำหรับการดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่นยังมีที่ว่างสำหรับชาวไทยที่มีความพร้อม ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ได้รับการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุและฝึกทักษะภาษา โดยตนจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดโอกาสในการมีอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงในประเทศญี่ปุ่นต่อไป
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวง พม. เตรียมการในเรื่องที่อยู่อาศัยที่สามารถดึงดูดผู้สูงอายุต่างชาติให้มาใช้ชีวิตในไทยหลังเกษียณอายุ โดยต้องมีความโดดเด่นทั้งด้านทำเลที่ตั้ง การออกแบบ และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในขณะเดียวกัน ต้องเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการดูแลผู้สูงอายุ มีทักษะภาษา และมีความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อช่วยให้ความสะดวกสบายและความสุขในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ตั้งเป้าหมายในพื้นที่ 2 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรและศักยภาพเหมาะสม โดยคาดว่าจะเป็นที่สนใจของผู้สูงอายุต่างชาติ และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวชุมชนในพื้นที่อีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad