รบ.ห่วงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงพายุ ปภ. แนะข้อปฏิบัติเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัย-เตรียมพร้อมการอพยพ ..D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

รบ.ห่วงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงพายุ ปภ. แนะข้อปฏิบัติเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัย-เตรียมพร้อมการอพยพ ..D

รัฐบาลห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงพายุ ปภ. แนะข้อปฏิบัติเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัย-เตรียมพร้อมการอพยพ โฆษกรัฐบาลย้ำขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงสถานการณ์ฝนตกหนักในห้วงที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลมาจากร่องความกดอากาศเป็นหลัก รวมถึงอิทธิพลของพายุโนรูที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า พายุโนรู ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงวันที่ 28-30 กันยายน 2565 และล่าสุด วันนี้ (28 ก.ย. 65) เวลา 13.00 น. กรมอุตุรายงานสถานการณ์ พายุโซนร้อน “โนรู” ว่ามีศูนย์กลางอยู่ห่างทิศตะวันออกของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 90 กิโลเมตร คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีในคืนนี้ และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน อย่างไรก็ดี เมื่อประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ในการนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือในส่วนของประชาชน ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะข้อควรรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยเมื่อเกิดอุทกภัย ดังนี้

1. การเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย
1) ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ อาทิ พยากรณ์อากาศ ประกาศเตือนภัย ระดับการขึ้น-ลงของน้ำในแม่น้ำ ระดับน้ำทะเลหนุน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย และการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด
2) สังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ อาทิ ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น น้ำในลำน้ำมีสีขุ่น หรือเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินภูเขา ฝนตกหนักต่อเนื่อง สัตว์ป่าแตกตื่น มีเสียงดังอื้ออึงมาจากป่าต้นน้ำ หากสังเกตพบสัญญาณดังกล่าว ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จะได้เตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยทันที
3) จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค จัดเก็บเอกสารสำคัญไว้ในถุงพลาสติกและรองเท้ากันน้ำ รวมถึงวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ยางในรถยนต์ แกลลอนน้ำ เป็นต้น สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะเดินลุยน้ำท่วม โดยจัดวางไว้ในบริเวณที่นำติดตัวไปได้ทันทีที่ต้องอพยพ
4) ป้องกันน้ำท่วมบ้าน โดยกำจัดขยะมิให้อุดตันท่อน้ำ ทางระบายน้ำ กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้โดยสะดวก พร้อมนำกระสอบทรายมาจัดวางเป็นแนวคันกั้นน้ำ หรือเสริมคันดินบริเวณรอบบ้าน รวมถึงตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ

2. การปฏิบัติตนเมื่อเกิดอุทกภัย
(1) กรณีสามารถอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ให้ปฏิบัติดังนี้
1) ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งของมีค่าให้พ้นจากระดับน้ำท่วม รวมถึงอพยพสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
2) ตัดกระแสไฟฟ้า โดยปิดสวิตช์ไฟ สับคัตเอาท์ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว ห้ามใช้และสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ
3) เดินทางในช่วงน้ำท่วมด้วยความระมัดระวัง
4) ไม่เข้าใกล้แนวสายไฟ เสาไฟฟ้า หรือสัมผัสวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้า อาทิ โลหะ ตะกั่ว อลูมิเนียม ทองแดง เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต
5) ระมัดระวังภัยในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะการจมน้ำ อุบัติภัยจากไฟฟ้า สัตว์มีพิษที่อาจหนีน้ำเข้ามาอาศัยในบ้าน เศษแก้วหรือวัสดุมีคมที่จมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงโรคระบาดในช่วงน้ำท่วม
6) สวมรองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษ วัสดุมีคมทิ่มหรือตำเท้า
7) ไม่ประกอบกิจกรรมบริเวณที่น้ำท่วมสูงและมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว อาทิ จับสัตว์น้ำ ทำการเกษตร เพื่อป้องกันการจมน้ำ อีกทั้งไม่ควรอยู่ในน้ำเป็นเวลานานเพราะอาจเป็นตะคริว ทำให้จมน้ำเสียชีวิต
(2) กรณีต้องอพยพออกจากพื้นที่ ให้ปฏิบัติดังนี้
1) ให้อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ให้การช่วยเหลือเด็กและคนชราก่อน พร้อมปฏิบัติตามแผนการอพยพหนีภัยไปยังสถานที่ปลอดภัย
2) ไม่อพยพไปตามเส้นทางที่เป็นทางไหลของน้ำ หลีกเลี่ยงการเดินข้ามลำน้ำที่มีระดับน้ำสูงเหนือเข่าและมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว
3) ห้ามขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง เพราะความแรงของกระแสน้ำอาจพัดรถออกนอกเส้นทาง ทำให้รถจมน้ำก่อให้เกิดอันตรายได้

3. การจัดเตรียมถุงยังชีพ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยควรจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ในถุงยังชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยพิบัติได้อย่างน้อย 3-5 วัน ประกอบด้วย เครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น อาทิ ไฟฉาย ถ่านสำรอง เทียนไข ไฟแช็ก นกหวีด เชือก ถุงพลาสติกสีดำ กระดาษชำระ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค มีดพับ ที่เปิดกระป๋อง และเอกสารสำคัญที่จัดเก็บไว้ในถุงพลาสติกหรือซองกันน้ำ เพื่อป้องกันเอกสารได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ควรจัดเก็บถุงยังชีพไว้ในจุดที่ปลอดภัย รวมถึงหมั่นตรวจสอบสิ่งของเครื่องใช้ในถุงยังชีพให้อยู่ในสภาพที่สามารถนำมาใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัย

“หากบ้านเรือนของประชาชนตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย หรือเป็นเส้นทางที่มวลน้ำกำลังจะไหลผ่าน การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอย้ำให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ติดตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน ก็ได้เตรียมพร้อมสรรพกำลังและเครื่องมือติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยในหลายพื้นที่ขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ปภ.จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ ‘ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784’ โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT” นายอนุชาฯ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad