Amnesty ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรียกร้องยุติการประกาศใช้และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

Amnesty ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรียกร้องยุติการประกาศใช้และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน




แอมเนสตี้ ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมยื่นหนังสือและหกข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง ระบุที่ผ่านมา ข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุด และมีอย่างน้อย 1,467 คนถูกดำเนินคดีดังกล่าว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในประเทศไทย เราพบว่า มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วถึง 19 ครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกข้อกำหนดตามมาถึง 47 ฉบับ นับถึงเดือนมิถุนายน 2565 โดยแต่ละฉบับวางมาตรการใหม่ในการควบคุมโรคและแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการเดิม เช่น การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตามช่วงเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) การสั่งปิดสถานที่ การห้ามทำกิจกรรม และรวมไปถึงการสั่ง "ห้ามชุมนุม" เป็นต้น

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเห็นว่า การประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการประกาศใช้ข้อบังคับในภาวะฉุกเฉินเกินความจำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง และสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ”

“นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 -สิงหาคม 2565 หรือตลอดระยะเวลา 2 ปี ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอย่างน้อย 1,467 คน ใน 647 คดี ที่ถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งมีเด็กอายุต่ำว่า 18 ปีถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว 241 คน ใน 157 คดี ซึ่งการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินถือเป็นข้อกล่าวหาที่มีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมมากที่สุด”

ข้อมูลจาก Mob Data Thailand พบว่ามีหลายกรณีที่การชุมนุมโดยสงบ ถูกมองว่าเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนนำไปสู่การสลายการชุมนุมทั้งหมดอย่างน้อย 50 ครั้ง (ข้อมูลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565) โดยเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ทั้งกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าจัดการกับผู้ชุมนุมโดยไม่เเยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมเเละบุคคลซึ่งต้องสงสัยว่าอาจใช้ความรุนเเรง

ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในบางโอกาสรัฐอาจต้องใช้มาตรการที่เป็นข้อยกเว้นและชะลอการบังคับใช้สิทธิบางประการ เมื่อเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ อย่างไรก็ตาม ในการใช้มาตรการที่เป็นข้อยกเว้นต้องใช้เท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ โดยมาตรการเช่นว่านั้นต้องไม่ขัดแย้งพันธกรณีอื่นๆ ของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ ทางสังคม โดยที่รัฐต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมด้วยเช่นกัน

ดังนั้นทาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยดังนี้

1. ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยคำนึงถึงความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับรองในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights– ICCPR)

2. อนุญาตเเละคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใดๆ สามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมประท้วงโดยสงบได้ในพื้นที่อย่างปลอดภัย รวมถึงรัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เเละประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่นตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

3. ยุติการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ อันเป็นสิทธิที่พึงมีและได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560

4. ดำเนินการให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนต่างได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรวมทั้งตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำมาลงโทษ

5. ประกันว่ามาตรการทั้งปวงที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเลี่ยงพันธกรณีด้านสิทธิต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อกำหนดในแง่การให้ข้อมูล ความถููกต้องตามกฎหมาย เเละความจำเป็น รวมถึงกำหนดให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อติดตามและรายงานข้อมูลมาตรการที่นำมาใช้

6. พิจารณาและปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศและหลักความถูกต้องของกฎหมายเพื่อนำมาประกาศใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและรองรับบทบัญญัติที่ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความรับผิดและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ

โดยมีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมารับจดหมายและข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ ประเทศไทยและเครือข่าย และในเวลาต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยพิจารณาความเหมาะสมการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งประเมินภาพรวมแนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad