กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ep.3 โดย รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565

กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ep.3 โดย รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์


หาก “กรุงเทพมหานคร” เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ “ประชาชน” ก็คงเปรียบได้กับคุณครูที่รอตรวจการบ้านจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุก ๆ ท่าน วันนี้ (9 ก.ย. 65) จึงเป็นโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะมาส่งการบ้านให้กับประชาชนในงานแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เล่าถึงภาพรวมการทำงาน 99 วัน ในรูปแบบ TED Talk เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า กรุงเทพมหานครทำอะไรไปบ้างแล้ว และจะทำอะไรต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

*พัฒนาจุดทำการค้า พร้อมหาจุดร่วมระหว่างคนเดินกับผู้ค้า
● รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวถึงเรื่อง “จุดทำการค้า (หาบเร่-แผงลอย)” โดยมีการหาพื้นที่ให้แก่ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย Hawker Center มีสถานที่ราชการ 125 แห่ง สามารถรองรับผู้ค้าได้ประมาณ 8,300 ราย นอกจากนี้ สำนักงานเขต 50 เขต ได้สำรวจทางเท้า สามารถหาที่รองรับได้แล้ว 198 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ 27,627 ราย

ในขณะนี้ กทม. ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การค้าขาย ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ค้าได้มีโอกาสใช้ทางเท้าให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาในอนาคต การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว Street Food จะทำให้เกิดรายได้ของ กทม. ที่จะได้รับในอนาคต

ด้านการจัดระเบียบการค้า ขณะนี้ กทม. มีพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย โดยการจัดระเบียบทางเท้า กทม. ได้พยายามให้เกิดความความเรียบร้อย โดยร่วมมือกันกับภาคเอกชนให้การสนับสนุนร่ม แผงค้าแบบน็อกดาวน์ ฯลฯ และได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนและผู้ค้าเป็นอย่างดี โดยมีแผนการจัดระเบียบผู้ค้าและปรับปรุงแผงค้าในพื้นที่ทำการค้าของ กทม. ระยะที่ 2 จำนวน 29 จุด แบ่งเป็นระยะที่ 1 ก.ย. - พ.ย. 65 จำนวน 17 จุด ระยะที่ 2 ธ.ค. 65 - ก.พ. 66 จำนวน 29 จุด และระยะที่ 3 มี.ค. - พ.ค. 66 จำนวน 26 จุด

ในส่วนของส่วยเทศกิจ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ กทม.จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตที่ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้การทำงานไม่ยึดติดอยู่กับสถานที่มากเกินไป ในขณะเดียวกัน หากมีเจ้าหน้าที่คนใดปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็จะต้องมีการดำเนินการลงโทษโดยเด็ดขาด

*เสาะหาพื้นที่ Pocket Park สวน 15 นาที ทั่วกรุง

เรื่อง “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” จากข้อมูลสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จะมีพื้นที่สวน 15 นาที หรือสวนขนาดเล็ก (pocket park) ขนาดประมาณ 200 ตารางวา ประมาณ 104 แห่ง ระยะทางประมาณ 400 - 800 เมตร ปรากฏว่าประชาชนที่สามารถเข้าใช้บริการได้มีเพียงประมาณร้อยละ 20 ของประชาชนทั้งหมด ดังนั้น สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตจึงได้ร่วมกันหาพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที โดยจัดหาได้แล้วจำนวน 30 แห่ง อยู่ในพื้นที่ 21 สำนักงานเขต โดยมีการใช้งบประมาณในการปรับปรุง 2 ส่วน คือ งบประมาณ กทม. และภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงเอง และมอบให้กับกทม.ดูแล ปัจจุบันได้ดำเนินการพื้นที่นำร่องสวน 15 นาที ประเภทที่ดินเอกชน ได้แก่ 1. Klong-san pocket park ที่ดินว่างริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซ.สมเด็จเจ้าพระยา 3 เขตคลองสาน เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา และ 2. สุขเวชชวนารมย์ pocket park แขวงบางปะกอกฝั่งเหนือ เขตราษฎร์บูรณะ เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา // ประเภทที่ว่างริมคลอง ได้แก่ คลองเป้ง pocket park เขตวัฒนา // ประเภทที่ดินราชพัสดุ ได้แก่ สวนป่าสัก ซอยวิภาวดี 5 เขตจตุจักร เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

*นำร่องแล้ว 925 ชุมชน/องค์กร ร่วมแยกขยะจากต้นทาง

“นโยบายด้านการจัดการขยะ” ในปัจจุบัน กทม. มีปริมาณขยะที่ต้องกำจัดในแต่ละวันถึง 9,000 ตันต่อวัน ใช้เงินในการจัดการ 1 ตัน ประมาณ 1,900 กว่าบาท ดังนั้นในวันหนึ่ง ๆ ต้องใช้เงินประมาณ 17 ล้านบาท ซึ่งการลดปริมาณขยะจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของ กทม. การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราสามารถลดปริมาณขยะได้ จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบให้สำนักงานเขต และสำนักสิ่งแวดล้อม ดำเนินการนโยบายมุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียก โดยเจราจาขอร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ วัด โรงเรียน อาคาร ชุมชน ตลาด โดยมีชุมชน/องค์กรที่เข้าร่วมแล้ว 998 แห่ง ดำเนินการแล้ว 925 แห่ง สามารถลดปริมาณขยะเฉลี่ยร้อยละ 25 สามารถประหยัดงบประมาณได้ 85,400 บาทต่อวัน ในอนาคตปี 2567 - 2569 จะขยายผลโดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมกิจกรรม อย่างน้อย 3,600 แห่ง ซึ่งหากมีการร่วมมือกันคาดว่าจะสามารถดำเนินการลดปริมาณขยะได้ 100%

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะ โดยจัดการขยะครบวงจร 3 กิจกรรม 1. เก็บขยะแยกประเภท 2 ประเภท คือ “เศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” คอนเซปต์ “ไม่เทรวม” โดยเศษอาหารนำส่งโรงงาน MBT (จัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ) และโรงงานหมักปุ๋ย อ่อนนุช และเปิดตัวโครงการไม่เทรวม เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 65 ที่สวนลุมพินี 2. ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดตามหลัก Zero waste 3. ตั้งจุดทิ้งขยะแยกประเภท (drop-off point) เบื้องต้นมีการนำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท เขตหนองแขม แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 นำร่องเก็บขยะแยกประเภท 3 เส้นทาง ก.ย. - ต.ค. 65 ระยะที่ 2 ขยายผลทุกเส้นทางในระดับแขวง พ.ย. - ธ.ค. 65 และระยะที่ 3 ขยายผลทุกเส้นทางในพื้นที่เขต 47 เขต ม.ค. - มี.ค. 66

โปรดติดตาม ep.4 โดย รองผู้ว่าฯ ศานนท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น