กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ep.4 โดย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565

กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ep.4 โดย รองผู้ว่าฯ ศานนท์

หาก “กรุงเทพมหานคร” เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ “ประชาชน” ก็คงเปรียบได้กับคุณครูที่รอตรวจการบ้านจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุก ๆ ท่าน วันนี้ (9 ก.ย. 65) จึงเป็นโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะมาส่งการบ้านให้กับประชาชนในงานแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เล่าถึงภาพรวมการทำงาน 99 วัน ในรูปแบบ TED Talk เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า กรุงเทพมหานครทำอะไรไปบ้างแล้ว และจะทำอะไรต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

*เพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมืองทุกวัน ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์
● รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต้องทำในหลายมิติไปพร้อม ๆ กัน ทั้งในเรื่องของโครงสร้าง สาธารณสุข ขยะ สวนสาธารณะ อย่างที่ทั้ง 3 ท่านได้กล่าวไปแล้ว ในส่วนของตนจะมาเติมในเรื่องของกิจกรรมทำให้เมืองมีชีวิต การดึงอัตลักษณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องคน ซึ่งทุกคนมีความสำคัญ และเราจะพูดถึงกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ด้วย

ในเรื่องแรก คือ “สร้างเมืองมีชีวิต ให้ทุกคนมาใช้ชีวิต” ทุกท่านน่าจะเห็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่กทม.จัดในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด เชื่อว่าทุกคนอยากที่จะออกจากบ้าน ทางกทม.จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ดนตรีในสวน โดยกทม. ร่วมกับภาคี จัดขึ้นมากว่า60 ครั้ง หน่วยงานอื่น ๆ จัดอีกกว่า 100 ครั้ง รวมถึงเกิดกิจกรรมต่อยอดอื่น ๆ อาทิ หนังสือในสวน บอร์ดเกมในสวน ธรรมะในสวน Book Club เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเราก็จะจัดพื้นที่ให้มีการปลดล็อกของระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้มีการเล่นดนตรีได้จริง ๆ ในบางพื้นที่

12 เทศกาล 12 เดือน โดยในเดือน มิ.ย. 65 เราได้จัด Bangkok Pride Month สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจัดทุก ๆ เดือน ทำให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ เช่น เรื่องที่รองผู้ว่าฯ ทวิดา พูดถึงนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้นมา ในเดือน ก.ค. 65 เราได้จัด กรุงเทพกลางแปลง ดึงศักยภาพของหนังกลางแปลงกลับมา ให้สร้างชีวิตให้กับคนในเมือง ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่หลาย ๆ จังหวัด ได้มีการนำหนังกลางแปลงกลับมาฉายเช่นกัน โดยปลายปีนี้ เราจะนำกรุงเทพกลางแปลงกลับมาอีกหลายสัปดาห์ เพื่อให้ทุกคนได้มีกิจกรรมในวันหยุด ในเดือน ส.ค. 65 เรามี บางกอกวิทยา ทำให้เราเห็นมิติใหม่ของกรุงเทพฯ ทำให้เราเห็นว่าสวนสาธารณะไม่ได้มีแค่การออกกำลังกายและการฟังดนตรี แต่ยังสามารถไปดูตัวเงินตัวทอง ไปดูค้างคาว ไปดูผึ้ง ฯลฯ และได้เรียนรู้ในด้านนิเวศวิทยาในสวนสาธารณะได้ด้วย ทำให้ผู้คนเห็นว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ ในเดือน ก.ย. 65 เรามี BKK-เรนเจอร์ เราอยากให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ด้วยเดือนนี้เป็นเดือนที่มีวันเยาวชนแห่งชาติ เราจึงจัดกิจกรรมในพื้นที่ศูนย์เยาวชน

*ดึงอัตลักษณ์ย่านกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

เรื่องต่อมาคือ “การดึงอัตลักษณ์ย่าน เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยได้นำร่อง 11 ย่าน ได้แก่ 1. ถนนแปลงนาม เขตสัมพันธวงศ์ 2. ย่านตลาดพลู (ตลาดรัชดาภิเษก) เขตธนบุรี 3. ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 (ชุมชนสวนหลวง 1) เขตบางคอแหลม 4. ย่านตลาดน้ำตลิ่งชัน ต่อเนื่องตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน 5. ย่านตลาดเก่าชุมชนหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง 6. ย่านสะพานหัน-คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร 7. ชุมชนริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ 8. ย่านบางรัก เขตบางรัก 9. ย่านตลาดน้อย (คลองผดุงกรุงเกษม) เขตสัมพันธวงศ์ 10. ย่านนางเลิ้ง (คลองผดุงกรุงเกษม) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 11. ย่านคลองสาน เขตคลองสาน มากกว่านั้น เราก็ได้จัดกิจกรรมถนนคนเดิน 39 แห่ง ใน 50 เขต มีร้านค้า 1,855 ร้าน สร้างเศรษฐกิจ (มีการจับจ่ายใช้สอย) กว่า 28.6 ล้านบาท

*สร้างสวัสดิการเพื่อคนด้อยโอกาส และจ้างงานคนพิการ

ต่อเนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือคน เราได้ดูแลเรื่อง “Welfare เพื่อสร้างสวัสดิการสำหรับทุกคน” เพื่อให้คนไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ ไม่ไร้งาน โดย กทม.ร่วมกับมูลนิธิอีกหลาย ๆ องค์กร เปิดพื้นที่บริการเฉพาะกิจ 4 จุด ได้แก่ ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ตรอกสาเก สถานีรถไฟหัวลำโพง และถนนราชดำเนินกลาง มีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คน/จุด/วัน เพื่อเป็นจุดบริการ เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และช่วยให้คนไร้บ้านกลับมามีบ้านในอนาคต

ในส่วนของการจ้างงานคนพิการ เมื่อก่อนกทม.จ้างงานคนพิการเพียง 112 คน ปัจจุบันจ้างงานคนพิการเพิ่ม 212 คน (เริ่ม มิ.ย. 65) ใน 50 เขต และสำนักพัฒนาสังคม รวมเป็น 324 คน แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เราต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการจ้างของ กทม. ต้องการจ้างให้เกิดงานที่มีคุณภาพ ให้เป็นงานที่สมศักดิ์ศรี โดยเราได้ทำงานร่วมกับวัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อสังคมที่จะมาช่วยดึงศักยภาพงาน ปัจจุบันเราได้ให้พี่ ๆ คนพิการมาเป็นช่วยเป็นแอดมินตอบแพลตฟอร์ม Traffy Fondue

*เปิดข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึง พร้อมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม

อีกเรื่องสำคัญต่อมา คือ “เปิดกรุงเทพฯ : Open Bangkok / เปิดข้อมูล : Open Data เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” เราได้เปิดเผยข้อมูลร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงานของกทม. ภายใน 90 วัน (Executive Order) เราจึงได้จัด Data Literacy Training: อบรมการเปิดเผยข้อมูลกับข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งมีคนมาร่วมแจ้งความประสงค์สนับสนุนต้นไม้กว่า 1.6 ล้านต้น รวมถึงกิจกรรม Hack BKK (Open Innovation) เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม

*ปลดล็อกการศึกษา กทม. เพื่อสร้างการเรียนรู้สมัยใหม่

ในเรื่อง “ปลดล็อกการศึกษา กทม. เพื่อสร้างการเรียนรู้สมัยใหม่” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พูดอยู่เสมอว่า การศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ กรุงเทพมหานครจึงมุ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในชื่อ Open Education ซึ่งมีโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน วิชาชีพเลือกเสรี After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม

นอกจากนี้ กทม.ยังได้ “เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน” ปัจจุบันเรามีทีมทำงานคนรุ่นใหม่เกิน 10 ทีม ที่มาช่วยกันในมิติต่าง ๆ โดยมีการประชุมที่ไม่ใช้โต๊ะ ประชุมล้อมวง แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อระดมสมองในการผลักดันงานต่าง ๆ ในอนาคต

สำหรับแผนซึ่งเราจะไปต่อ มีดังนี้ ในเดือน ต.ค. 65 กทม.เข้าร่วม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) จะทำให้พื้นที่โรงเรียนถูกปลดล็อกระเบียบต่าง ๆ ได้ เราจะเปิดข้อมูลชุดแรกที่สำรวจมา เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ เปิดเผยสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เปิด Oi Bangkok (Open innovation Lab) และ ในเดือน พ.ย. 65 เราจะปลดล็อกพื้นที่สาธารณะ เพื่องานศิลปวัฒนธรรม จะมีการจ้างงานอาสาเทคโนโลยีประจำชุมชน และ Food Bank นำร่อง 10 เขต ในเดือน ธ.ค. 65 เราจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ wifi โรงเรียน ปรับปรุงลานกีฬา มากกว่า 900 แห่ง และปรับปรุงบ้านหนังสือ 140 แห่ง ส่วนในปี 2566 เราจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Made in Bangkok (MIB) รวมไปถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งจะได้มาเล่าให้ทุก ๆ ท่านฟังหลังจากนี้

*ติดตามความคืบหน้านโยบาย ทาง policy.bangkok.go.th

● ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ และโฆษกของกทม. กล่าวว่า สำหรับการแถลงสรุปผลในวันนี้ ทำให้ประชาชนได้ทราบว่าเรากำลังทำอะไร และอนาคตจะทำอะไร แต่จะดีกว่าหรือไม่หากประชาชนไม่ต้องมานั่งรอการแถลงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถติดตามสถานการณ์ ติดตามนโยบายได้ด้วยตนเอง ซึ่งเราได้มีการปรึกษากับท่านผู้บริหารกรุงเทพมหานครหลายท่าน และเกิดเป็นเว็บไซต์ที่จะแนะนำวันนี้

กทม.กำลังพัฒนาเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลข่าวสารของกรุงเทพมหานครให้ครบและจบในที่เดียว เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครได้ทุกมิติ เพราะเรามุ่งเน้นให้กทม.เป็นหน่วยงานที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ได้อย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้จะประกอบไปด้วย 5 หมวดหมู่ ประกอบด้วย 1.เกี่ยวกับ กทม. 2.นโยบาย 3.หน่วยงาน/เขต 4.ข่าวสาร 5.ช่องทางการติดต่อ โดยส่วนที่เปิดให้เข้าดูได้แล้วคือหมวดหมู่ติดตามนโยบาย policy.bangkok.go.th ส่วนหมวดหมู่อื่น ๆ อยู่ระหว่างการพัฒนา

สำหรับหมวดหมู่ “นโยบาย” ทั้งผู้บริหาร กทม. และประชาชน จะได้เห็นความคืบหน้าของนโยบายไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในขณะนี้เราได้ทยอยนำเข้าข้อมูลไปแล้ว 85 นโยบายด้วยกัน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (action plans) และความคืบหน้าได้ว่าเริ่มดำเนินการเมื่อไรอย่างไร ส่วนนโยบายที่เหลือกำลังสรุปแผนปฏิบัติการ และจะทยอยอัปเดตขึ้นเว็บไซต์เรื่อย ๆ

ประชาชนสามารถเลือกดูนโยบายตามหมวดหมู่ 9 ด้าน 9 ดี ได้แก่ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี และเดินทางดี พร้อมกับมีสถานะความคืบหน้าของนโยบายทั้งหมด รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแนะนำให้เราพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้

ในอนาคตเราจะอัปเดตหมวดหมู่ “หน่วยงาน/เขต” โดยออกแบบให้ประชาชนใช้งานได้ง่ายที่สุด รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญและมีประโยชน์ อาทิ รายละเอียดของหน่วยงาน ข่าวสาร ช่องทางการติดต่อ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดหรือบริการของหน่วยงาน สามารถคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์หลักของหน่วยงานได้ สามารถดูแผนที่ สถานที่สำคัญภายในเขตได้ อีกทั้งยังมีการรวบรวมปัญหาเด่น ๆ ในเขต ทั้งที่รวบรวมมาจาก Traffy Fondue การสำรวจของเจ้าหน้าที่ และสถิติจากหน่วยงาน สรุปปัญหาเส้นเลือดฝอยจาก Traffy Fondue พร้อมลิสต์ปัญหาที่แก้ไขแล้วและรอการแก้ไข หากเห็นว่าเขตนั้น ๆ ยังมีปัญหาอื่นอีก ก็สามารถรายงานเข้ามาได้

“ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทางทีมงานของกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ตัวผมเอง ข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานครทุกคน อยากจะร่วมกันพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้น และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความหวัง” ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ และโฆษกของกทม. กล่าวสรุปในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น