กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ep.2 โดย รองผู้ว่าฯ วิศณุ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565

กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ep.2 โดย รองผู้ว่าฯ วิศณุ

หาก “กรุงเทพมหานคร” เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ “ประชาชน” ก็คงเปรียบได้กับคุณครูที่รอตรวจการบ้านจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุก ๆ ท่าน วันนี้ (9 ก.ย. 65) จึงเป็นโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะมาส่งการบ้านให้กับประชาชนในงานแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เล่าถึงภาพรวมการทำงาน 99 วัน ในรูปแบบ TED Talk เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า กรุงเทพมหานครทำอะไรไปบ้างแล้ว และจะทำอะไรต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

*99 วันงานราบรื่น ด้วยความร่วมมือทุกมิติ
● รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า สำหรับ 99 วัน ตามนโยบายที่เราเคยให้ไว้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาและข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ เราจึงมียุทธศาสตร์ (Strategy) อย่างหนึ่งเพื่อทำให้งานเดินหน้าได้ นั่นคือ “ความร่วมมือ” ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 1-2 เดือนแรก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เข้าพบขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำให้งานของกรุงเทพมหานครราบรื่น และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้

*ป้องกันแก้ไขน้ำท่วมแบบบูรณาการ

เริ่มต้นด้วยเรื่อง “การป้องกันน้ำท่วม” สิ่งที่เราได้ดำเนินการมา คือทำอย่างไรให้เรามีข้อมูลในการจัดการ ซึ่งเราได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหลายส่วนเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ โดยได้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน อธิบดีกรมชลประทานหรือผู้แทน ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการวางแผนและการบริหารจัดการ ทั้งน้ำเหนือ น้ำในเขื่อน ให้สอดคล้องกับสภาพฝน ปริมาณน้ำหลังเขื่อนด้วย และหลังจากน้ำลงมาในคลองแล้ว เราได้มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ และเขื่อนกั้นน้ำ

เราได้มีการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย เพื่อทำให้น้ำไหลจากหน้าบ้านลงสู่คูคลองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้เราดำเนินการไปแล้ว 3,358 กิโลเมตร ในส่วนของการขุดลอกคลองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเนื่องด้วยเรื่องงบประมาณตามที่แจ้งไว้ข้างต้น แต่สิ่งที่เราทำได้เยอะคือการเปิดทางน้ำไหล 1,665 กิโลเมตร เพื่อระบายให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น คนอาจจะสังเกตเห็นว่าเราขุดคลองให้ลึกและนำที่ขุดมาแปะไว้ข้าง ๆ นั่นคือ Quick Win หมายถึงเป็นการทำให้ร่องกลางน้ำลึกมากขึ้นและทำอย่างรวดเร็ว เพื่อรับน้ำในฤดูฝนนี้ก่อน ซึ่งได้ขุดลอกแล้ว 32 คลอง ส่วนในปีหน้าได้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ขุดลอกได้อย่างจริงจัง

สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครได้จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 กิโลเมตร โดยได้ขอความร่วมมือกับเจ้าของที่ เพื่อรับน้ำเหนือและน้ำหนุนที่จะมา เราได้มีการก่อสร้างเขื่อนถาวรในปีงบประมาณนี้ 1.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในปีหน้าจะต้องทำให้ครบ 3.1 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของที่เพื่อทำเขื่อนถาวรด้วย

ในเรื่องของการลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณถนนสายหลัก ได้มีการรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักมาวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ตรงจุด โดยในปี 2565 ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักจาก 9 จุด เหลือ 2 จุด นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมจุดเสี่ยงน้ำท่วมถนนสายย่อย จุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่เส้นเลือดฝอย เพื่ออัปเดตในระบบให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

“เราทำอย่างเต็มที่ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เรื่องของการพร่องน้ำในคลอง และเรื่องของการเร่งระบายน้ำจากบ้านลงคลอง แต่หากมีการท่วมเพราะปริมาณฝนช่วงนี้ ซึ่งตกหนักในแต่ละวัน หรือเกินเกณฑ์ค่าเฉลี่ย กรุงเทพมหานครก็ได้ระดมพลกัน ในกรณีที่เกิดความเสี่ยงท่วมขัง โดยหลายเขตได้มีการจัดรถรับ-ส่งประชาชนในจุดเปราะบางน้ำท่วม รวมถึงขอความร่วมมือจากทหารมาช่วย และระดมกำลังหน่วยงานของกทม. สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ทุกคนช่วยกันหมด นอกจากรับ-ส่งประชาชนแล้ว ก็มีการส่งทีมไปซ่อมรถให้ จะเห็นได้ว่าเราก็ทำทุกวิถีทางที่จะอำนวยความสะดวกเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว

*ทำถนน-ทางข้ามให้ปลอดภัย ขอภาพกล้อง CCTV ฉับไวผ่านออนไลน์

นอกจากเรื่องน้ำยังมีนโยบายอีกหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น เรื่อง “การปรับปรุงทางม้าลาย” ซึ่งการปรับปรุงทำได้ 2 วิธี คือ การทาสีใหม่ ในกรณีที่เส้นสีจืดจาง และการล้าง ในกรณีที่การปนเปื้อนคราบล้อยาง ซึ่งเราได้ปรับปรุงแล้ว 1,286 จุด จากทั้งหมด 2,788 จุด คิดเป็นร้อยละ 45.48

เรื่อง “การขอภาพ CCTV Online ภายใน 24 ชั่วโมง” จากเดิมที่มีจุดอ่อน (Pain Point) ว่าขอภาพยากมาก ช้ามาก ตอนนี้ได้เปิดให้มีการขอภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ของกรุงเทพมหานครทางออนไลน์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมาขอภาพด้วยตนเอง ซึ่งเริ่มทำสำเร็จช่วง 1 ส.ค. 65 หรือก่อนนั้นเล็กน้อย มีผู้ขอภาพ CCTV Online ที่ได้รับภาพแล้ว 1,168 ราย

ขั้นตอนมีดังนี้ ประชาชนที่จะขอไฟล์ภาพต้องแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุก่อน จากนั้นสามารถแจ้งความประสงค์ขอไฟล์ภาพจากกล้อง CCTV ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK โดยใช้เอกสารและข้อมูลประกอบการขอรับไฟล์ภาพ ได้แก่ 1. บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2. สำเนาบัตรประชาชน 3. หมายเลขกล้องวงจรปิด 4. วันและเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการขอ ซึ่งเมื่อศูนย์ CCTV ได้รับเรื่องแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านไลน์ @CCTVBANGKOK และทางอีเมลที่แจ้งไว้ หรือติดตามสถานะการขอไฟล์ภาพผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th ในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หากเกิน 7 วัน จะต้องทำเรื่องขอภาพใหม่

เรื่อง “การคืนพื้นผิวจราจร” เราจะเร่งรัดโครงการที่มีผลกระทบการจราจรสูง โดยได้คืนผิวจราจรแล้ว 2โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก และโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ และในเดือน ต.ค. 65 จะคืนอีก 5 โครงการ ส่วนปีหน้า (2566) จะคืนอีก 7 โครงการ

เรื่อง “ความปลอดภัยบนท้องถนน” เราได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งมีจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อย 100 จุด โดยเราได้ลงไปสำรวจและดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงแล้ว 2 จุดรวมถึงได้วิเคราะห์และตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อเตรียมการปรับปรุง 54 จุด (เริ่มดำเนินการ 1 ต.ค. 65) และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติมอีก 44 จุด ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้เริ่มทำได้ภายในปี 2565

*ประสานสิบทิศจัดระเบียบสายสื่อสาร และผลักดันการนำสายลงดิน

เรื่อง “การนำสายสื่อสารลงดิน” เป็นความดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในการนำสายไฟฟ้าลงดินก่อน โดยมีแผน 174 กิโลเมตร ตั้งเป้าปีนี้ 74 กิโลเมตร ปัจจุบันแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร จากนั้นจะประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะประสานงานต่อไปยังผู้ประกอบการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมรายต่างๆ เพื่อให้นำสายสื่อสารลงดิน

ในส่วนของ กทม. จะดูแลเรื่อง “การจัดระเบียบสายสื่อสาร” คือ ตัดสายตายและจัดระเบียบใหม่ โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ประสานงานกับ กสทช. และผู้ประกอบการต่าง ๆ ซึ่งตามแผนของ กสทช. คือจัดระเบียบสายสื่อสารให้ได้ 800 กิโลเมตร ใน 2 ปี โดยปีนี้ กสทช. มีแผน 390 กิโลเมตร ทำไปแล้วกว่า 60 กิโลเมตร และ กทม. ได้เข้าไปช่วยในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางเร่งรัดกระบวนการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เร็วขึ้นและมากขึ้น โดยเพิ่มเป้าหมายปีนี้ที่ 500 กิโลเมตร เป้าหมายใน 2 ปี เพิ่มเป็น1,000 กิโลเมตร ปัจจุบันแล้วเสร็จ 18 เส้นทาง ระยะทาง 79.62 กิโลเมตร

“สิ่งที่กล่าวมานี้คือ Quick Win ที่ทำได้ แต่หลาย ๆ อย่าง เราต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ในเชิงโครงสร้างต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรที่เป็น Pain Point สำคัญ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้มีการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ จุดรถติดช่วงเวลาไหน เพื่อดูสาเหตุที่แท้จริงที่รถติด จะได้แก้ต้นตอได้ถูกต้อง นี่เป็นสิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปในการใช้ข้อมูลมาบริหารจัดการ อีกสิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อไปคือการบูรณาการ เพราะหลาย ๆ เรื่องใน กทม. เกี่ยวกับอีกหลายส่วน หลายหน่วยงาน ฉะนั้น สิ่งที่เราจะเดินหน้าต่อไปคือการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และการร่วมมือการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย

โปรดติดตาม ep.3 โดย รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น