สรพ. ประกาศก่อการไกล ชวนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ประเทศไทยมีสุขภาวะดี Well-being - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

สรพ. ประกาศก่อการไกล ชวนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ประเทศไทยมีสุขภาวะดี Well-being

สรพ. ประกาศยกระดับเป้าหมายการดำเนินงาน จากการมี “สุขภาพดี” ไปสู่การมี “สุขภาวะดี” ชี้ทำเองหน่วยงานเดียวไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องร่วมกันก่อการไกลขับเคลื่อนระบบสุขภาพไปสู่เป้าหมาย Well-being

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พร้อมด้วย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “จากรากฐาน สานต่อ ก่อการไกล...สู่ก้าวไปด้วยกัน” ในงานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลโดยใช้กระบวนการเยี่ยมสำรวจ กระบวนการประกันคุณภาพ เริ่มเป็นแนวคิดประมาณปี 2537-2538 หลังจากนั้นก็มีการเกิดขึ้นของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ในช่วงปี 2541-2542 ก่อนจะมาเป็น สรพ. ในปี 2552

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายในช่วงต้นๆ ของ สรพ. นั้น จะย้ำเป้าหมายการนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี (Good Health) อย่างไรก็ตาม การมีสุขภาพที่ดีสุขภาพดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมีสุขภาวะซึ่งมีความหมายที่กว้างกว่า และวันนี้ สรพ. กำลังยกระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ใช่เพียงแค่การมี Good Health แต่เป็นการมี Well-being หรือ Wellness หรือการขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะที่ดี

“องค์ประกอบของ Wellness ไม่ได้มีเพียงการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว แต่สุขภาวะจะเกิดไม่ได้ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี ถ้าจิตใจแต่ละคนไม่มี spiritual ที่ดี ไม่มีการศึกษาที่ดี ฯลฯ ผมร้อยเรียงเพื่อให้จำได้ง่ายๆ คือ 9 ส. สุขภาพเป็นส่วนหนึ่ง แต่จะเกี่ยวโยงไปกับ ส. อื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สัมมาชีพ สิ่งแวดล้อม ศาสนาศิลปวัฒนธรรม การศึกษา และสัตว์ เพราะโรคระบาดใหญ่ๆที่เกิดหลังปี 2000 เป็นต้นมา มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ทั้งสิ้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สรพ.จะขยายโจทย์ตัวเองเข้าไปจับเรื่อง Well-being ผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่มี well-being ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและเชื่อว่ามีไม่กี่ประเทศที่กล้าพูดประโยคเหล่านี้ แต่จากองค์ประกอบของ Wellness จะเห็นว่า สรพ. ไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด หมายความว่าการทำงานหลังจากนี้ไม่ได้ทำงานตัวคนเดียว การมีระบบสุขภาพที่ดีขึ้นของประเทศ ไม่สามารถทำด้วยใครคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถทำด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ตนอยากใช้โอกาสชวนผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ตลอดจนคนไทยทั้งประเทศมาร่วมก้าวไปด้วยกันกับ สรพ. ก่อการไกลไปสู่เป้าหมายการมีสุขภาวะที่ดี


ด้าน พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ก่อการไกลในอดีต สรพ. พูด 3 เรื่อง คือ 1. การเชิญชวนสถานพยาบาลทั่วประเทศพัฒนาระบบคุณภาพจากในระดับโรงพยาบาล มาสู่ระบบบริการแบบเครือข่าย และไปสู่ชุมชน สังคม และประชาชนทุกคน หรือ Health System 2. การยกระดับจากเรื่อง 2P safety นอกจาก Patient safety, Personal safety ไปสู่ People safety หรือ 3P safety นั่นเอง 3. การเดินหน้าได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งเรื่องมาตรฐาน กระบวนการการประเมินรับรอง และผู้เยี่ยมสำรวจ เช่นเดียวกับเรื่อง Patient safety ที่จะก้าวไปพร้อมกับ Global patient safety action plan

ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ สรพ. ขับเคลื่อนคือการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมการการ Disrupt ของเทคโนโลยี รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับการถ่ายโอนอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปี 2566 มีการทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกจัดประชุมเรื่อง Quality & Safety และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการขับเคลื่อน Global patient safety action planอย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆที่ดำเนินงานมาทั้งปี สรพ. ก็ขับเคลื่อนได้ในระดับหนึ่ง แต่การจะก่อการไกลในระบบสุขภาพ ต้องก้าวไปด้วยกัน สรพ. ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ จากเดิมที่บอกว่า “ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพและไว้วางใจได้ด้วยมาตรฐาน HA” เป็น “สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA” รวมทั้งปรับยุทธศาสตร์ 2P Safety ให้สอดคล้องกับ Global patient safety action plan และขับเคลื่อนไปอีกขั้นเป็น 3P Safety คือ People นอกจากต้องมี Safety แล้วยังต้อง Healthy และ Well-being ด้วย

“โจทย์ใหญ่คือสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองแล้วประชาชนได้อะไร เป็นโจทย์ที่ สรพ. ต้องทำร่วมกับหน่วยบริการในการนำมาตรฐาน HA ไปพัฒนาสถานพยาบาลเพื่อส่งมอบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยแก่ประชาชน”พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น