กทม.รับฟังความเห็นต่าง หาจุดร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยและการระบายนํ้า โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมฯ...G - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

กทม.รับฟังความเห็นต่าง หาจุดร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยและการระบายนํ้า โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมฯ...G


เมื่อวันที่ 13 มี.ค.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับหนังสือร้องเรียนและร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนผู้คัดค้านโครงการบ้านมั่นคงชุมชนศิษย์หลวงปู่ขาวประมาณ 30 คน ที่เข้าหารือถึงประเด็นการก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตหลักสี่ที่มีการก่อสร้างคร่อมทางสาธารณะซึ่งเป็นทางสัญจรหลักของคนในชุมชน โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) สำนักการระบายน้ำ สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตหลักสี่ ผู้แทนจากกอ.รมน. สมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมหารือ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการบ้านมั่นคงบริเวณคลองเปรมประชากร เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำเขื่อน ร่วมกับการดูแลพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมคลอง ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร แนวคิดของโครงการคืออยากให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ชุมชนริมคลองมีบ้านที่มั่นคงโดยนำพื้นที่ของกรมธนารักษ์มาพัฒนาเป็นบ้านมั่นคง โดยให้มีการเช่าระยะยาว ตามหลักการที่จะพยายามหาที่อยู่ให้ใกล้ที่เดิมมากที่สุด เนื่องจากพี่น้องประชาชนได้อาศัยอยู่มานานโดยไม่ต้องย้ายที่ทำงานไกลจากเดิม โดยพื้นที่บ้านอาจจะขนาดเล็กลงและต้องมีกระบวนการในการดำเนินการ ซึ่งทำต่อเนื่องมาแล้วหลายชุมชน อาทิ เขตหลักสี่ เขตจตุจักร ซึ่งบางชุมชนอาจจะมีข้อกังวลและข้อขัดแย้งอยู่ เช่น การตรวจสอบในสิทธิที่ดินว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ความไม่มั่นใจในระบบของโครงการบ้านมั่นคง เป็นต้น



สำหรับการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง กทม.ไม่ได้ทำหน่วยงานเดียวแต่เป็นความร่วมมือกัน ทั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และหน่วยงานความมั่นคงคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และตำรวจ ซึ่งกทม.มีหน้าที่ในแง่ของการดูแลชุมชน วันนี้ชุมชนที่มาหารืออาจจะกังวลใจว่าจะเกิดความไม่มั่นคงและส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เพราะอาจจะยังไม่มั่นใจต่อโครงการฯ หน้าที่ของกทม.คือต้องดูแลและให้ความชัดเจนแก่ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น เพราะออกจากการรุกล้ำคลอง ออกจากพื้นที่ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ไปสู่การเช่าอย่างถูกกฎหมาย มีการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อรวมตัวกันเพื่อการออมทรัพย์ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยไว้ใจในระบบซึ่งคงต้องมีการสื่อสารและชี้แจงให้มากขึ้น



“ประเด็นอาจเริ่มมาจากอาทิตย์ที่แล้ว ทางภาครัฐได้เข้าไปในพื้นที่โครงการแล้วมีการกั้นรั้วก็จะก่อสร้างบ้านมั่นคงล็อตใหม่โดยเกี่ยวข้องกับถนนที่สัญจรของชุมชน ซึ่งทางสำนักงานเขตได้เตรียมพื้นที่เส้นใหม่ให้ แต่ชาวบ้านอาจจะยังมีข้อกังวลและไม่พอใจอยู่บ้าง จึงได้แนะนำและคำนึงถึงผลในระยะยาว เนื่องจากริมคลองเปรมประชากรมีประชาชนอยู่จำนวนมาก หากไม่จัดการเรื่องพัฒนาที่อยู่อาศัย การขุดลอกคลอง การก่อสร้างเขื่อน ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะคลองเปรมประชากรเป็นคลองระบายน้ำของหลายๆเขต คือ จตุจักร หลักสี่และดอนเมือง แต่กทม.ก็คำนึงถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญเช่นกัน โดยต้องช่วยกันหาทางออกและทำความเข้าใจ โดยได้มอบหมายให้ปลัดกรุงเทพมหานครร่วมมือกับผอ.เขต ดูแลการบริหารจัดการด้านรัฐศาสตร์ต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แสดงความห่วงใยในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ที่ดินที่ก่อสร้างบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตหลักสี่ เป็นที่ราชพัสดุ ตามพรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยมีกรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล (ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ส.กท.832) ไม่ใช่ที่ สาธารณะ การก่อสร้างบ้านมั่นคงเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.55 เห็นชอบการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ริมน้ำและทางระบายน้ำ (ระยะเร่งด่วน พัฒนา 9 คลองสายหลัก) ประกอบกับมติครม.เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 62 เห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร และคำสั่งคสช.ที่ 9/2560 เรื่องการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและริมคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ โดยการดำเนินการก่อสร้างบ้านมั่นคง เป็นไปตามกระบวนการทำงานตามโครงการ บ้านมั่นคงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งขั้นตอนแรกจะเป็นการสร้างความรับรู้และความเข้าใจโครงการฯ ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่ได้เข้าร่วมฯในฐานะคณะทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น