เผย 4 มาตรการเข้ม ยกระดับความปลอดภัยคนงานกวาด-เก็บขยะ กทม. - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566

เผย 4 มาตรการเข้ม ยกระดับความปลอดภัยคนงานกวาด-เก็บขยะ กทม.


เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีพนักงานกวาดกทม.ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ ว่า จากอุบัติเหตุรถชนนางสาวครสวรรค์ ขุนนะลา ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) เขตธนบุรี เป็นเหตุให้เสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน คดีอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ โดยคู่กรณีพร้อมทั้งญาติผู้เสียชีวิตเข้าพบร้อยเวรแล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงของสถานีตำรวจฯในการนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตธนบุรี ได้สรุปความช่วยเหลือเบื้องต้นตามสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอันพึงได้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,563,560 บาท ประกอบด้วย 1. ค่าจัดการศพ 3 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย (เงินเดือน 19,720 บาท) เป็นเงิน 59,160 บาท 2. บำเหน็จปกติลูกจ้างประจำ อายุราชการ 15 ปี เป็นเงิน 295,800 บาท 3. บำเหน็จพิเศษ 30 เท่า เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นเงิน 591,600 บาท 4. ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม (สำนักงานเขตธนบุรี) เป็นเงิน 100,000 บาท 5. ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มพนักงานกวาด (สำนักสิ่งแวดล้อม) เป็นเงิน 100,000 บาท 6. เงินช่วยเหลือค่าทำศพสหกรณ์ออมทรัพย์กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 15,000 บาท 7. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 380,000 บาท 8. เงินช่วยเหลือค่าทำศพ (จากการรวบรวมความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ) เป็นเงิน 12,000 บาท 9. เงินช่วยเหลือค่าทำศพจากกองทุนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นเงิน 10,000 บาท


นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการดำเนินคดีและการชดใช้จากคู่กรณี ประกอบด้วย 1. ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณี วงเงิน 500,000 บาท 2. เงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 วงเงิน 500,000 บาท โดยสำนักงานเขตธนบุรีจะได้ประสานติดตามเรื่องเงินเยียวยาจากคู่กรณีอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนกรณีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนนางสาวภัสสริน วงค์เดือน ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) เขตสะพานสูง ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้บาดเจ็บได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง ตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยแพทย์ได้ตรวจรักษาและอนุญาตให้กลับบ้านได้เนื่องจากเป็นการบาดเจ็บที่หน้าแข้งเพียงเล็กน้อย ในการนี้ กรุงเทพมหานคร โดยผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมคณะผู้บริหารเขตฯ ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจและสอบถามอาการจากผู้ได้รับบาดเจ็บและจากแพทย์ผู้รักษา พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว สำหรับความคืบหน้าคดี อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางชันเพื่อติดตามคู่กรณีมาดำเนินคดีต่อไป ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา สำนักงานเขตสะพานสูงได้ประสานโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งจะเบิกจ่ายจากกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ในวงเงิน 50,000 บาท นอกจากนี้ผู้ประสบอุบัติเหตุจะได้รับเงินเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม อีกกรณีหนึ่ง



โฆษกของ กทม. กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุและความปลอดภัยของพนักงานกวาด พนักงานเก็บขนมูลฝอย และพนักงานสวนสาธารณะ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยได้ประชุมทำความเข้าใจกับหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของสำนักงานเขตให้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ตามแนวทางการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ 4 มาตรการ ดังนี้ 1. พื้นที่ชานเมือง ไม่มีทางเท้าหรือที่เปลี่ยว ให้ใช้รถกวาดดูดฝุ่นแทนคน หากจำเป็นต้องพัฒนา ให้ดำเนินการในเวลาราชการ 08.30 – 16.30 น. ยกเว้นแก้ปัญหาเร่งด่วน 2. กรณีการแก้ปัญหาในเวลาเร่งด่วน ตามข้อ 1. ต้องมีการตั้งกรวยยาง มีผู้ให้สัญญาณ หากดำเนินการเวลากลางคืนต้องมีสัญญาณไฟ มีรถที่มีสัญญาณไฟฉุกเฉินก่อนถึงจุดทำงาน (ลักษณะเดียวกับการทำงานบนทางด่วน) 3. การกำหนดเวลาทำงานพนักงานกวาด แบ่งเป็น 2 ย่าน คือ ย่านแออัด หรือถนนที่ทางเท้ามีปัญหาขยะ ฝุ่นละอองมาก คนเดินมาก จะเข้ากะทำงานในเวลา 05.30 – 13.30 น. และเวลา 13.30 – 21.30 น. ส่วนย่านไม่แออัด หรือทางเท้ามีฝุ่นละอองน้อย จะเข้าทำงานกะเดียว ในเวลา 08.00 – 16.00 น. และ 4. การกำหนดเวลาในการปฏิบัติงานของพนักงานกวาดถนน ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่


นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุให้แก่กลุ่มพนักงานกวาดทั้ง 50 เขต โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทสมาชิก เงินเอาประกันภัย 100,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 1 ปี อีกทั้งได้ดำเนินโครงการมือวิเศษกรุงเทพ แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด ผลิตชุดสะท้อนแสงรีไซเคิลจากขวดพลาสติกใส เพื่อให้พนักงานสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 1,000 ชุด ระยะแรกได้นำร่องทดลองใช้ที่เขตดินแดง จำนวน 200 ชุด และได้ทยอยส่งมอบให้สำนักงานเขตเพิ่มเติมแล้ว 600 ชุด โดยได้มีการประเมินเป็นระยะ ๆ ก่อนที่จะนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงเครื่องแบบใหม่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและเป็นหลักประกันให้แก่พี่น้องพนักงานกวาดที่ทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น