ผบก.ปส.3 บช.ปส. แจงการดำเนินคดี เครือข่าย “ทุน มิน ลัด” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

ผบก.ปส.3 บช.ปส. แจงการดำเนินคดี เครือข่าย “ทุน มิน ลัด”


เมื่อวันที่ 12 มี.ค.66  พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 บช.ปส. เปิดเผยว่า จากกรณี พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดีกับเครือข่าย “ทุน มิน ลัด” ตามปรากฏเป็นข่าวที่เกิดขึ้นนั้น ประเด็นการดำเนินคดีกับ เครือข่าย “ทุน มิน ลัด” คดีนี้ เริ่มจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สว.กก.2 บก.สส.บช.น.

สำนวนที่ 1. เป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ ผู้กล่าวหา กับ นายทุน มิน หลัด กับพวกรวม 10 คน ผู้กล่าวหามีการดำเนินการยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหา รวม 6 ราย ในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวน (ชั้นการสืบสวนความผิดก่อนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน) และต่อมา ผู้กล่าวหาได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องหา รวม 4 ราย ส่งให้ บช.ปส.ดำเนินคดี (หลบหนี 2 ราย) และผู้กล่าวหามีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ นายอุปกิตฯ เพิ่มเติม 1 ราย รวมเป็น 7 ราย ต่อมา อสส. ได้พิจารณาสำนวนที่ 1 เห็นว่า


“คดีนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด” ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ โดยสำนวนแรกพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้มีสอบสวนร่วมกันและมีความเห็นว่าพฤติการณ์ผู้ต้องหาในคดีเข้าข่ายเป็น “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เห็นควรให้แจ้งข้อหาในความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่พบเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง จากนั้น คณะพนักงานสอบสวนและ คณะพนักงานอัยการสำนวนที่ 1 ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 9 ราย เนื่องจาก ผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาใกล้ครบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับกรณี นายอุปกิตฯ ที่ร้องทุกข์เพิ่มเติมในภายหลังได้มีการแยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวน

สำนวนที่ 2. เป็นการกล่าวหา นายอุปกิตฯ เป็นผู้ต้องหาที่เพิมเติมในภายหลังในชั้นการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้มีการแยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวน ซึ่ง อสส. ได้พิจารณาสำนวนที่ 2 เมื่อ 26 ม.ค.66 ยังคงเห็นว่า คดีส่วนนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร เช่นเดียวกันกับสำนวนที่ 1 จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20

จึงมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการสำนักงานสอบสวน รวม 7 ท่าน ซึ่งมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะพนักงานอัยการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการก็ได้ร่วมกัน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อย่างรวดเร็ว โดยมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยที่ปรากฏในสื่อสาธารณะหลายสื่อมีเนื้อหาระบุว่า “ศาลได้ให้พนักงานสอบสวนไปออกหมายเรียกเนื่องจาก นายอุปกิตฯ เป็น สว. ภายใน 15 วัน แล้วเหตุใดพนักงานสอบสวนไม่ออกหมายเรียกตามที่ศาลสั่งการ” ประเด็นดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ได้พิจารณาร่วมกันตลอด เห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนหลายประการยังไม่มีความสมบูรณ์เนื่องจากมีเอกสารที่ไม่ใช่ภาษาไทย จำนวนมากประมาณกว่า 1,000 แผ่น จะต้องจัดแปลให้เป็นภาษาไทย เพื่อที่จะพิสูจน์ความผิดได้ซึ่งมีรายละเอียดพยานหลักฐานที่สำคัญมาก ประกอบกับอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งการให้สอบสวนเพิ่มเติมในสำนวนที่ 1 ซึ่งมีรายละเอียดพยานหลักฐานเกี่ยวพันกับผู้ต้องหาใน สำนวนที่ 2 ด้วย รวม 4 ประเด็น ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ได้ดำเนินการไปแล้วหลายประเด็น คงเหลือ ประเด็นที่สำคัญที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ อาทิ การสั่งให้สอบสวนเกี่ยวกับการซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายค่าไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2551 - ปัจจุบัน การตรวจสอบบัญชีเงินฝากและเส้นทางการเงินของบัญชีที่เกี่ยวข้อง ประมาณกว่า 500 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าไฟฟ้า และพิจารณาว่า มีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการเครือข่ายยาเสพติดกลุ่มนี้หรือไม่ อย่างไร รวมทั้ง การตรวจสอบกรรมการผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลในต่างประเทศ เพื่อใช้ในการแจ้งข้อเท็จจริงและแจ้งข้อหากับนิติบุคคลต่างประเทศภายในกำหนดอายุความ

ในชั้นนี้รายละเอียดในสำนวนไม่อาจเปิดเผยได้หมด เนื่องจาก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องในสำนวนอาจเป็นความผิดตาม มาตรา ๒๖ ได้ จึงขอชี้แจงความคืบหน้าเพื่อให้สื่อสาธารณะทราบว่า

1. อำนาจในการสอบสวนคดีนี้ มาตรา ๒๐ ป.วิอาญา กฎหมายบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน บรรดาอำนาจและหน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ และให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินคดีในที่ประชุมจึงเป็นการดำเนินการโดยการเห็นชอบร่วมกันทั้งสิ้น

2. การสอบสวนในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 131 ป.วิอาญา ว่าการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ ประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดย มติที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนทุกอย่างให้เสร็จสิ้นและต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด โดยจะต้องไม่มีประเด็นสงสัยและต้องชี้แจงต่อสาธารณชนได้ และคดีไม่ถือว่าล่าช้าแต่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมและพิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุดเนื่องจากเป็น คดีนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดแต่ผู้เดียว

3. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดที่ถูกกล่าวหาตาม มาตรา 8 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 180 บัญญัติไว้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และ บช.ปส. ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการได้รับทราบแล้ว จึงต้องดำเนินการสอบสวนต่อไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรมตามกฎหมาย และต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

ท้ายนี้ ในนามของคณะทำงานร่วมกัน ผบก.ปส.3 ยังได้ยืนยันว่า ในการดำเนินคดีดังกล่าว ทั้ง คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ไม่มีบุคคลใดทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและฝ่ายผู้ต้องหา หรือ ผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายทั้งตำรวจและพนักงานอัยการ เข้ามากดดันการสอบสวน หรือสั่งการในการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ และที่สำคัญ มาตรา 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ หากเข้าไปช่วยเหลือผู้กระทำผิดหรือกลั่นแกล้งผู้กระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น