ผู้ว่าฯ สัญจรเขตบางขุนเทียน เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลและน้ำหนุน...D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ สัญจรเขตบางขุนเทียน เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลและน้ำหนุน...D

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากการประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตบางขุนเทียน ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ว่า
เขตบางขุนเทียนถือเป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ฝั่งกรุงธนใต้ มีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 180,000 คน ถือเป็นเขตที่สำคัญที่มีหลายภาคส่วน ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคม หมู่บ้านจัดสรร เกษตรกรรม และชายทะเล เป็นเขตเดียวของกทม. ที่มีชายทะเลยาว 4.7 กิโลเมตร
สำหรับเรื่องสำคัญที่มีการพูดคุยในวันนี้ มีเรื่องการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาแม้จะถือว่าจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้า แต่ก็ยังถือว่ายังจัดเก็บได้ต่ำกว่าภาษีโรงเรือนที่เคยเก็บได้ จึงได้มีการพยายามเร่งทำฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น ครบถ้วน และเป็นธรรม เพราะเป็นเรื่องสำคัญ

โรงเรียนในเขตบางขุนเทียน มีทั้งหมด 16 โรงเรียน ได้เน้นเรื่องการดูแลสวัสดิการครูและคุณภาพของอาหารกลางวัน การดูแลครูในสาขาต่าง ๆ อัตราครูที่ยังขาดแคลนอยู่ เพราะเป็นคนสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้น

ส่วนในเรื่องของฝุ่น PM 2.5 นั้น พื้นที่เขตบางขุนเทียนถือว่ามีทั้งโรงงานและถนนพระราม 2 ที่มีรถบรรทุกวิ่งจำนวนมาก จึงได้เน้นเรื่องการควบคุมจำกัดต้นตอของฝุ่น ทั้งเรื่องของโรงงาน การเผาชีวมวล และรถที่ปล่อยมลพิษ

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการในเรื่องของ BKK Food Bank หรือการนำเอาอาหารที่บริโภคได้ แต่ไม่ได้ถูกนำมาจำหน่าย ซึ่งจะมีการนำมาให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือนำไปบริโภค เพื่อที่จะเป็นทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และถือเป็นการลดขยะ โดยอาหารที่มานั้น ต้องเป็นอาหารที่รับประทานได้

ส่วนปัญหาที่ต้องดำเนินการต่อ คือจุดน้ำท่วม เนื่องจากเขตบางขุนเทียน เป็นจุดที่มีน้ำทะเลหนุน และฝนตกในพื้นที่ ซึ่งได้มีการสำรวจพื้นที่ไว้หมดแล้ว และได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน รวมถึงการลอกท่อ โดยในปี 2566-2567 จะมีการลอกท่อให้ครบ 100% ในเขตบางขุนเทียน

เรื่องที่ต่อเนื่องมาคือ เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งที่ถือเป็นปัญหามาโดยตลอด เขตบางขุนเทียนมีชายทะเล 4.7 กิโลเมตร ในขณะนี้มีชายฝั่งถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 2,700 ไร่ ซึ่ง กทม. ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ไปแล้ว 5 ปีที่ผ่านมาเรื่องการทำตัวเขื่อน ซึ่งถือว่าได้มีการศึกษาในเรื่องของเขื่อนไม้ไผ่ รวมไปถึงหินทิ้ง หรือเสาไฟฟ้าปัก ซึ่งได้มีการทำมาแล้วในหลายยุคของผู้ว่าราชการที่ผ่านมา ซึ่งจากการทำ EIA สรุปว่าทำแนวเขื่อนกั้นออกไปจากแนวเขตที่ดินไปในทะเล เป็นเขื่อนทุก 200 เมตร มีช่วงตรงกลาง 50 เมตร มีการวิเคราะห์เชิงเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญได้ดูแล้ว ซึ่งประชาชนเห็นด้วยในส่วนนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะพิจารณาต่อไป โดยประชาชนมองว่าใช้ไม้ไผ่ปักนั้นอยู่ได้ไม่นาน และจะกลายเป็นขยะลอยเข้าสู่ชายฝั่ง จึงคาดว่าเรื่องของการทำชายฝั่งนั้น จะมีการใช้ในส่วนของการใช้เสาไฟปักและการถมหินเป็นหลัก ซึ่งเป็นโครงการที่จะเดินหน้าต่อ

นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน มีประเด็นเรื่องทางข้ามถนนบางขุนเทียนชายทะเล ซึ่งเป็นถนน 6 เลน ทำให้ข้ามถนนลำบาก จะมีทางข้ามที่ทำให้คนข้ามได้อย่างปลอดภัยขึ้น โดยมอบให้สำนักการจราจรและขนส่ง ไปพิจารณาระหว่างสะพานลอยกับทางข้ามที่มีไฟเขียวไฟแดง ซึ่งสะพานลอยผู้สูงอายุอาจจะใช้ลำบาก อาจจะพิจารณาดูทางข้ามที่ปลอดภัยมีไฟเขียวไฟแดงกดใช้รถชะลอลงและข้ามได้อย่างปลอดภัยด้วย ซึ่งจะพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด

ในวันนี้มีการเชิญตำรวจเข้ามาร่วมประชุมด้วย ซึ่งจะเดินหน้าเรื่องยาเสพติดจะโดยจะนำคนเข้ามาบำบัดทั่ว กทม. ประมาณ 7,000 คน โดยหลัก ๆ กทม. จะทำ 2 เรื่องศูนย์บำบัด ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เป็นศูนย์บำบัด แต่จะมีศูนย์ที่เข้มข้นขึ้น 19 แห่ง และศูนย์ที่พักค้าง 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลสิรินธร ซึ่งได้ร่วมมือกับทางตำรวจเตรียมการบำบัดให้พร้อมรองรับการปูพรมของตำรวจในช่วง 2 เดือนนี้ เพื่อนำคนออกมาสู่การบำบัด ขณะเดียวกันตำรวจอยากให้ กทม.อบรมให้ความรู้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ให้เขามีความรู้ไปดูแลผู้บำบัดเพราะว่าการบำบัดมีหลายอย่างหลายขั้นตอน

• ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กทม. เพิ่มขึ้น 2 เท่า ขอความร่วมมือประชาชนสวมใส่หน้ากากป้องกัน

สำหรับจุดฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร ประชาชนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์สาธารณสุขทุกแห่ง ในวันพุธและศุกร์ตอนบ่าย ซึ่งล่าสุด กทม. ได้เพิ่มช่วงเวลาเป็นวันศุกร์ในช่วงเช้าเพิ่มเติม โดยประชาชนสามารถ walk in หรือจองผ่านการลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน ส่วนศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ในขณะนี้เปิดให้บริการในวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้บริการกับประชาชนที่ทำงาน หรือไม่สามารถมาได้ในช่วงเวลาวันปกติ ซึ่งสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในขณะนี้ แม้จะมีผู้เสียชีวิต แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีนมาเป็นระยะเวลานาน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งตัวเลขของผู้ป่วยในขณะนี้ถือว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ถือว่าหนักเท่ากับช่วงของการระบาดทุกครั้งที่ผ่านมา โดยยังถือว่าการเตรียมพร้อมโดยเฉพาะเตียง วัคซีน และยารักษาโรค ยังมีเพียงพอและสามารถรับมือได้อยู่ ซึ่งมีการติดตามสถานการณ์ตลอด

ส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ยังคงขอให้ประชาชนระวังตนเองเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในสถานที่แออัด เพราะแม้ว่าจะไม่มีข้อกำหนดหรือการบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยแล้ว แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนดูแลตนเอง ด้วยการสวมใส่ในหน้ากากอนามัย หากไปยังสถานที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

• ขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

กรณีเหตุเพลิงไหม้ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นที่ในโลกออนไลน์และผู้ใช้บริการของห้างให้ข้อมูลว่า ขณะเกิดเหตุไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนไฟไหม้จากทางห้าง และไม่มีระบบสปริงเกอร์ในจุดดังกล่าวทำงาน

จากรายงานที่ได้รับ พบว่าสัญญาณแจ้งเตือนนั้นตรวจพบไฟไหม้ รวมถึงเจ้าที่บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพฯ ก็ได้เดินทางเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุทันที แต่เนื่องจากทางห้างสรรพสินค้าได้มีการแจ้งว่าสามารถดูแลตนเองได้ โดยห้างสรรพสินค้าแจ้งว่า การให้สัญญาณของห้างสรรพสินค้า อาจจะไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนดังทั้งห้าง แต่จะเป็นการแจ้งและค่อย ๆ อพยพคน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการบริหารจัดการของทางห้างเอง เพื่อป้องกันการตื่นตกใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งตนอาจจะต้องขอกลับไปทบทวน ว่าวิธีการที่ทำนั้นถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ รวมถึงมีอุปกรณ์ป้องกันเพลิงไหม้ของห้างบกพร่อง หรือไม่ทำงานหรือไม่ โดยขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งได้มีการส่งผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปตรวจสอบแล้ว

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ กทม. ต้องเข้มงวดเรื่องของการตกแต่งพื้นที่เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่หรือไม่นั้น ถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงมีเรื่องที่ต้องตรวจสอบ ว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ หรือจะเกิดจากการที่ใช้ไฟมากจนเกินไป หรือเกิดจากวัสดุที่นำมาตกแต่ง ซึ่งการตรวจสอบของ กทม. อาจจะไม่มีกฎหมายที่เข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ โดยหลังจากนี้ กทม. จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องของการตกแต่ง และมีการเสียบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิดขัดข้อง หรือการใช้ไฟที่มากเกินไป จนอาจจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้

• ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาเขตบางขุนเทียน

ในช่วงบ่ายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะลงพื้นที่ชุมชนเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 4 สำรวจปัญหาลานกีฬาชำรุดไม่สามารถเล่นกีฬาได้ เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมสวน 15 นาที ที่ได้ส่งมอบให้กับชุมชนเรียบร้อยแล้ว

จากนั้น ลงพื้นที่ชุมชนเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 5 โซน 1 และชุมชนเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 5 โซน 2 ดูปัญหาเครื่องเล่นกีฬาในลานกีฬาชำรุด และปัญหาน้ำท่วมในชุมชน พร้อมทั้งเยี่ยมบ้านพักครูโรงเรียนวัดหัวกระบือ ต่อมาลงพื้นที่ติดตามปัญหาน้ำทะเลหนุนพร้อมวางแนวทางการแก้ไขภายในซอยเทียนทะเล 19 ชุมชนวัดหัวกระบือ และชุมชนหลวงพ่อขาว จากนั้นลงพื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียนพร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนและปัญหาผลกระทบจากน้ำหนุน

สำหรับกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ในวันนี้มี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตขุนเทียน สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม





















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น