กทม. ปรับแผนยุทธศาสตร์ พร้อมจัดอบรมบุคลากรในสังกัด เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Zero-Based Budgeting - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565

กทม. ปรับแผนยุทธศาสตร์ พร้อมจัดอบรมบุคลากรในสังกัด เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Zero-Based Budgeting

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 65 ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการอบรมจัดทำแผนและงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย คือ ทำความเข้าใจแนวทางและเครื่องมือในการปรับเป้าหมายและทิศทางของแผนและงบประมาณในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้สอดรับกับนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม. โดยเน้น การเสริมพลังและการสร้างความเข้มแข็งให้กับเส้นเลือดฝอย เพื่อให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวกับผู้เข้าอบรมที่เป็นบุคลากรที่ทำงานในส่วนของนโยบายและแผน รับผิดชอบการจัดทำแผน รับผิดชอบการจัดทำงบประมาณและบริหาร ว่า แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) นั้น ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับนโยบายทั้ง 216 ข้อ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นโยบายงบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting ซึ่งเป็นหัวข้อในการอบรมวันนี้ หากทุกคนในส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปศึกษาในแต่ละยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ของแผนพัฒนาฯ ที่ถูกปรับปรุง จะพบว่าจะทำให้เราทำงานในส่วนการจัดสรรงบประมาณแบบ Zero-Based Budgeting ได้ง่ายขึ้น

โดยงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) นั้นรูปแบบคือ การจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความจำเป็นและคุ้มค่าของสิ่งที่ต้องทำ โดยพิจารณางบประมาณใหม่ทุกรายการ ไม่ใช่เพียงใช้งบประมาณของปีที่แล้วเป็นฐาน เพื่อปรับความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณไปในจุดต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพและความต้องการสูงสุด รวมถึงการทบทวนและปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติการของ กทม. เพราะโดยปกติงบประมาณของ กทม. จะใช้งบประมาณของปีก่อนหน้าเป็นฐานและปรับเพิ่มสำหรับปีงบประมาณใหม่ การทำงบประมาณในลักษณะนี้อาจไม่ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่แท้จริง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังได้ยกตัวอย่างทิ้งทายว่า ตอนนี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องการ 1 หมื่นเตียงคนไข้ ถ้าฟังดูแล้วจะคิดว่าเมื่อไหร่จะทำได้ ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ จัดสรรอย่างไร ถ้าใช้วิธีคิดในการจัดทำงบประมาณแบบเก่า เราอาจไปดูงบประมาณเก่าว่าใช้เงินเท่าไหร่ในการเพิ่มเตียงคนไข้ 1 เตียงในโรงพยาบาล แล้วถ้าต้องการ 1 หมื่นเตียงจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเงินมหาศาลไม่สามารถทำได้ แต่หากคิดแบบ Zero-Based Budgeting จะพบว่าเราไม่ได้พูดถึงการใช้งบประมาณซื้อเตียงเพิ่มในโรงพยาบาล แต่เตียงคนไข้หมายถึงเตียงที่บ้านของผู้ป่วยด้วย ซึ่งหากทำได้จะใช้งบประมาณน้อยลงมาก จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญของ Zero-Besed Budgeting คือ การคิดใหม่ ให้หลุดจากกรอบของการจัดสรรงบประมาณ

สำหรับการอบรมในวันนี้ มีผู้ร่วมบรรยายคือ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีบุคลากรที่ทำงานในส่วนของนโยบายและแผน รับผิดชอบการจัดทำแผน รับผิดชอบการจัดทำงบประมาณและบริหาร จากหน่วยงาน และส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวม 90 แห่งเข้าร่วมการอบรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น