กทม. ผนึกกำลัง UddC และเครือข่าย เปิดตัวโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 : แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า เข้าถึงพื้นที่สวนได้ใน 15 นาที - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2565

กทม. ผนึกกำลัง UddC และเครือข่าย เปิดตัวโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 : แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า เข้าถึงพื้นที่สวนได้ใน 15 นาที

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว เปิดโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 : แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า วันนี้ (3 ก.ย.65) ณ Whizdom Club ชั้น 4 อาคารทรู ติจิทัล พาร์ค (True Digital Park) โดยกล่าวว่าโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 : แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานครในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จัดทำสวน 15 นาที มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร

“เรื่องนี้มีความท้าทายมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ความร่วมมือของเอกชน ภาครัฐ หน่วยงานอื่นๆ ความท้าทายด้านงบประมาณ ความท้าทายเรื่องสวนจะออกแบบมาเป็นอย่างไร จะตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ได้หรือเปล่า วันนี้จึงเปิดโอกาสมาดูว่าแต่ละเขตที่มีความท้าทายแบบนี้ เราจะดำเนินการได้อย่างไร”

นอกจากนี้ UddC และภาคีเครือข่ายได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2017 ว่าเขตที่ควรนำร่องมีที่ไหนบ้าง โดยพบว่าเขตพระโขนงมีศักยภาพ ไม่ใช่ว่าความวิกฤติของพื้นที่สีเขียวเท่านั้น ที่นี่ไม่มีสวนเลย แต่มีเอกชนมีเจ้าของที่ดินที่พร้อมพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ

“ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ กทม.มีภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สุดท้ายแล้วคือภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นมิติที่จะทำให้ผู้ใช้ได้มาร่วมออกแบบด้วย นับว่าเป็นความท้าทายของคนในกรุงเทพฯ ทำให้ฝันของประชาชนทุกคนเป็นจริง” นายศานนท์กล่าว

ทั้งนี้พื้นที่สีเขียวของเมือง เป็นโจทย์สำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนเมืองและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่ เป็นนโยบายของเมืองทั่วโลก องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองไว้ 2 แนวทาง คือ 1. พื้นที่สีเขียวต่อประชากร กำหนดให้มีมาตรฐานขั้นต่ำ 9 ตารางเมตรต่อคน และ 2.ความสามารถในการเข้าถึง โดยพื้นที่สีเขียวของเมืองที่นำมาคำนวณ ต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจและใช้ประโยชน์ได้จริง และควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ในระยะการเดินเท้า 300-500 เมตร หรือประมาณ 10-15 นาที ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ดีขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นสัญญานที่ดีของการพัฒนา แต่ค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวยังไม่ถึงมาตรฐาน WHO มีเพียง 7.6 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่ระยะทางการเข้าถึงสวนสาธารณะเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ก็อยู่ที่ 4.5 กิโลเมตร หรือ 50-60 นาที

อย่างไรก็ดีขณะนี้ กรุงเทพฯมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองสู่การเป็นมหานครสีเขียว (Green Bangkok 2030) โดยมุ่งเพิ่มเป็น 10 ตารางเมตรต่อคน และตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็ยังมีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และการพัฒนาสวน 15 นาที เพื่อให้คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาในการเข้าถึงสวน

ด้าน UddC ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ผ่านการใช้ฐานข้อมูลเปิดของเมือง เสนอยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่สีเขียวระดับเมือง จากการพัฒนาที่ดินภาครัฐ กึ่งรัฐ และเอกชนขนาดใหญ่ ที่สามารถผลักดัน การพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ให้เทียบเท่ากับเมืองลอนดอนที่คำเฉลี่ยอยู่ที่ 18.9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 2.5 กิโลเมตร หรือประมาณ 30 นาที หากต้องการตอบโจทย์การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว 15 นาที ต้องผลักดันยุทธศาสตร์ระดับย่าน ที่เสนอให้ภาคเอกชนนำที่ดินรอการพัฒนามาร่วมพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว ผ่านปัจจัยส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นระเบียบกทม. หรือ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 แต่การผลักดันยุทธศาสตร์นี้ ยังต้องการผู้ร่วมคิดและข้อเสนอใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อคการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในเงื่อนไขต่างๆ ดังนั้น โจทย์สำคัญของกรุงเทพฯ คือ พื้นที่ใดบ้างที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่ สีเขียวได้ จะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งการใช้ที่ดินและจะพัฒนาอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จะบริหารจัดการอย่างไรให้มีความยั่งยืนในอนาคต เกิดความคุ้มค่ทการลงทุนของทั้งกทม. และเจ้าของที่ดิน

งาน Greener Bangkok Hackathon 2022 นี้ จึงชวนคนเมืองมาร่วมคิดและค้นหาข้อเสนอที่จะช่วยปลดล็อคการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในเงื่อนไขต่างๆ ในงานจะพบกับข้อมูลเปิดของเมืองที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้ง 50 เขต พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่จะมาให้คำแนะนำและพัฒนาไอเดียไปพร้อมกัน อีกทั้ง ข้อเสนอที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลและผลักดันสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

สำหรับงานนี้ ยังมีภาคีพัฒนาเมืองมาร่วมสนับสนุน อาทิ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ภิรัช จำกัด ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน) และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงภาคีขับเคลื่อนกรุงเทพเมืองที่เขียวกว่า ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร UddC Landometer Big Trees We!Park Builk One Group สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย โครงการคนไทย 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ และสมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง สร้างสรรค์ดี
(จิรัฐคม...สปส.รายงาน) (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น