เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 65 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ: คณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย หลักสูตร "ผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" รุ่นที่ 3 และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ผ่านระบบออนไลน์ จากห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปยัง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม จำนวน 49 คน เข้าร่วมพิธีเปิดและรับฟังการบรรยายพิเศษ ในวันนี้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการฯ นี้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ ในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชน ปลูกฝังค่านิยมการเป็นผู้นำการเปลี่ยนเเปลงซึ่งนำไปสู่การสร้างกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ การฝึกอบรมมีความสำคัญไม่เท่าผู้ฝึกอบรม การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง แสดงถึงเจตจำนงของบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แน่วแน่ และมีหัวใจที่อยากจะทำหน้าที่ที่เกินกว่าปกติ เพื่อให้เกิดการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่นำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายการทำงาน เกิดสิ่งดี ๆ แก่พี่น้องประชาชน และประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งอย่างยั่งยืน
“ประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จิตใจที่ดีของคนไทย ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย และสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยมีจิตใจที่ดี คือ สังคมไทยมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม และคนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง แม้จะมีความแตกต่างกัน นักวิชาการด้านสังคมระดับโลกก็ให้ความชื่นชมและยอมรับว่า ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ มาได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ ให้คนไทยมีความสมัครสมานสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ระยะเวลากับจำนวนรุ่นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้คนที่ทำงานในกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ เกิดการรวมกลุ่มและขยายผลไปในวงกว้าง เราในฐานะบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ต่างได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น แม้รัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานจะสามารถหารายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินและสามารถเลี้ยงดูบุคลากรของตนเองได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าจุดกำเนิดของเราทุกคนมาจาก “ภาษีประชาชน” ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จุดเริ่มต้นของงบประมาณไม่ได้มาจากการระดมทุนจากภาคเอกชน แต่มาจากเงินงบประมาณของภาครัฐ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สายไฟ เสาไฟ เพื่อให้บริการไฟฟ้า ก็ล้วนแล้วแต่มาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครเองก็มีที่มาจากการระดมทรัพยากรต่าง ๆ จากทั่วประเทศจนเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษทุกวันนี้ หรือในจังหวัดภูเก็ตเองมีรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวมากกว่างบประมาณประจำปีที่รัฐบาลจัดสรรให้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีนัยยะสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคง และกระจายความเจริญให้กับประเทศไทยในภาพรวม จึงขอให้พึงระลึกไว้ว่าเราในวันนี้ ล้วนแต่มีที่มาจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดของบุคลากรภาครัฐ คือ มีอุดมการณ์การทำเพื่อพี่น้องประชาชน และมีภาระหน้าที่ที่ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ด้วยการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด นำความเจริญไปในทุกพื้นที่ ทั้งระบบการศึกษาที่ดี การคมนาคมที่ครบวงจร การให้บริการที่มีคุณภาพ การเข้าถึงโอกาสด้านบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียม เป็นต้น ดังนั้น ทุกคนจะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาตนเอง ด้วย Passion และอุดมการณ์ ด้วยความเป็นจิตอาสาจากจุดเล็ก ๆ อาทิ การเก็บขยะในที่สาธารณะ การพาผู้สูงอายุข้ามถนน ต่างก่อให้เกิดประโยชน์และขยายผลแก่ส่วนรวม การอบรมในวันนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างมาก ผมมั่นใจว่าทุกคนมาด้วยความตั้งใจ สามารถพัฒนาตนเอง และกลุ่ม ผ่านการมีส่วนร่วมด้วยคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ใจกล้าหาญ (Brave heart) กล้าที่จะทำกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ซึ่งจะต้องอาศัย องค์ความรู้ (Knowledge) ทัศนคติที่ดี (Attitude) ความสามารถ (Ability) เป้าหมายในการ Change for Good จึงจะประสบความสำเร็จ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการที่มีหลักสำคัญหลักเดียวกัน คือ จะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นย้ำว่า จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพิ่มเติมจากพระปฐมบรมราชโองการ ของพระบิดาของพระองค์ท่าน ถือเป็นความโชคดีของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งเราทุกคนจำเป็นต้องมีหน้าที่คือทำหน้าที่หลักของเราให้ดี (Routine Job) และทำหน้าที่พิเศษเพิ่ม (Extra Job) เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินให้เต็มที่ในฐานะประชาชนของพระราชา ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ อย่าคิดว่าทำคนเดียวจะสำเร็จให้ทำด้วยการอาศัยทีม กลไก 3 5 7 หลักการ “บวร บรม ครบ” และหลักการเข้าใจภูมิสังคม เข้าถึงความต้องการที่แท้จริง และพัฒนาอย่างยั่งยืน ขอให้ยึดเป็นหลักคิดไว้ว่า สิ่งที่พระราชามีพระราชประสงค์ “...ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข...” เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ผิด และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์จนเกิดเป็นวิถีชีวิต บนหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เพื่อให้เกิดการ Change for Good ที่ส่งผลในด้านดีแก่สังคมโดยรวม
“สำคัญที่ว่า เราทำงานกับคน และคนที่เราทำงานด้วยต่างก็มีหัวใจ เราต้องเปิดใจ พูดคุย ยอมรับ ทำงานร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี ดั่งพุทธภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาตี” หมายความว่า ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่งทำงานร่วมกัน ทำแบบคนจน ทำจากจุดเล็ก เช่น การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารยุคที่ข้าวยากหมากแพงเราก็สามารถลดรายจ่ายและดำรงอยู่ได้ การร่วมกันใส่ผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจฐานราก การคัดแยะขยะ การใช้พลังงานอย่างประหยัด สิ่งเหล่านี้จะช่วยขยายผลไปสู่ระดับที่กว้างขึ้น จำไว้ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเพียงวันเดียว ต้องอาศัยความเพียรพยายาม และความอดทน เช่น "พระมหาชนก" หนึ่งในงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ลอยคอกลางทะเลแม้จะไม่เห็นฝั่ง แต่ด้วยความเพียรพยายามและอดทน ทำให้สามารถขึ้นถึงฝั่งและดำรงชีวิตต่อไปได้ ที่ผ่านมาโควิด - 19 ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความไม่แน่นอนอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ใครจะคิดว่าจะมีวันที่เครื่องบินทุกสายการบินงดให้บริการ ถนนทุกสายไม่มีรถวิ่ง ปัญหาเรื่องโรคระบาดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของปัญหาที่น่ากลัว ไม่ต่างจาก วิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และปัญหาความขัดแย้ง ขอขอบคุณเหล่าวิทยากร ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชศ โสวิทยสกุล คณาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ คุณชยดิษฐ์ หุตานุวัชร์ ที่ปรึกษาธุรกิจกลุ่ม Social Enterprise และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการฯ ทุกท่าน ผมหวังว่าการอบรมในครั้ง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เกิดการ Change for Good ที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ให้แก่พี่น้องประชาชนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้าย
วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Author Details
สื่อมวลชนหัวใจยุติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น