รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เชิญ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมคณะ เดินหน้าดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกมิติ..o - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เชิญ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมคณะ เดินหน้าดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกมิติ..o

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 65 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร / โครงการเฝ้าระวังภาวะประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัย และการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 และหลังวิกฤต ณ ห้องรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายของ กทม. มุ่งเน้นในเรื่องของเด็กเล็ก โดยจะพัฒนาให้มีจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร (ศพด.) อย่างทั่วถึง ดูแลเด็กเล็กให้ได้มากขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีคุณภาพทั้งในมิติกายภาพ และมิติของหลักสูตรและคุณครู โดยจะมีการเพิ่มสวัสดิการอาหาร/ครุภัณฑ์ เพิ่มสวัสดิการให้คุณครู หาแนวทางเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) เป็นต้น

“ก็มีข้อเสนอเรื่องการพัฒนาครู สวัสดิการค่าตอบแทน โครงสร้างการอบรมที่ชัดเจน เช่น อบรมครบกี่ชั่วโมงจะได้ใบรับรอง (certificate) ซึ่งอาจารย์อดิศักดิ์ ก็มีหลายหลักสูตรให้ได้ศึกษาอบรม เรื่องการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร (ศพด.) การคัดกรองและการเยี่ยมบ้านเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งจะต้องมีการบูรณาการกับสำนักพัฒนาสังคมในเรื่องของการลงพื้นที่ต่อไป” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับการหารือในครั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้รับฟังรายงานการดำเนินโครงการจาก ผอ.สถาบันฯ ว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1. ความปลอดภัยของเด็ก โดยพบว่าเด็กในกรุงเทพฯ เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและความรุนแรงเป็นส่วนใหญ่ 2. เด็กปฐมวัยยากจน / ได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ และการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 และหลังวิกฤต

โดยได้ประเมินภาวะยากลำบาก (CDC: children in difficult circumstances) ในกลุ่มเด็กที่ผ่านการคัดกรองความยากจน กสศ.01 ด้วยเครื่องมือ MU-MDP-ACE-01 เครื่องมือดังกล่าวครอบคลุมเด็กที่อยู่ในครอบครัวบกพร่อง แบ่งเป็น 5 ข้อ ได้แก่ แตกแยก / ตีกัน / ติดคุก / ติดยา / สุขภาพจิตไม่สมบูรณ์ของผู้เลี้ยงดู ในส่วนของการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม แบ่งเป็น 5 ข้อ ได้แก่ ละเลยทางกาย / ละเลยทางอารมณ์ / ทำร้ายทางกาย / ทำร้ายทางอารมณ์ / ทำร้ายทางเพศ ซึ่ง 10 ข้อข้างต้นจะถูกประเมินออกมาเป็นคะแนน Adverse Childhood Experiences หรือ ACE หมายถึง เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีความบกพร่องและ/หรือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ให้การดูแลไม่เหมาะสม

ในเด็กปฐมวัยที่มีคะแนน ACE สูง จะสัมพันธ์กับความถดถอยของสุขภาวะตลอดชีวิต ทั้งพัฒนาการที่ล่าช้า การเรียนล้มเหลว พฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในวัยกลางคนจากโรคไม่ติดต่อ

เมื่อปี 2563 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องปี 2564 ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการเฝ้าระวังภาวะประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัย และการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 และหลังวิกฤต เพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร (ศพด.) ให้มีขีดความสามารถในการดูแล ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ยากจนและมีภาวะยากลำบากให้ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

โครงการดังกล่าวได้มีการสำรวจ ค้นหา คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเข้ารับบริการใน ศพด. ของครอบครัวยากจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้ดูแลเด็ก รวมถึงการพัฒนาคุณภาพ ศพด. เช่น จัดการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่ครูและผู้ดูแลเด็กของ ศพด. เยี่ยมบ้านร่วมกับทีมบูรณาการด้านสุขภาพและการคุ้มครองเด็ก เป็นต้น

ในการนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เรียนเชิญ ผอ.สถาบันฯ ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการที่ดูแลภาพรวมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะประกอบด้วย คณะกรรมการจากหน่วยงานภายในกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย รวมไปถึงหน่วยงานภาคีเครือข่ายภายนอก เพื่อบูรณาการการดูแลกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานครให้เข้าสู่ระบบและได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมในทุกด้าน ดูแลไปถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนในเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น