ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” นำเสนอปัญหา แก้ไขตรงจุด มุ่งสู่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” นำเสนอปัญหา แก้ไขตรงจุด มุ่งสู่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน


เมื่อวันที่ 30 ส.ค.65 เวลา 10.30 น. ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกับ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนในกรุงเทพฯ นำโดย นายสมพงษ์ พัดปุย เลขาธิการเครือข่ายพลเมืองเพื่อธรรมาภิบาล และเครือข่ายผู้ประสานงานชุมชนจาก 20 เขต เพื่อนำเสนอกลไกพัฒนานโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ 3 มาตรการพัฒนานโยบายเชิงโครงสร้างส่งเสริมชุมชนกทม. การมีส่วนร่วมและส่งเสริมธรรมาภิบาลของกรุงเทพมหานคร การให้ชุมชนจัดทำแผนพัฒนารายปีโดยเงินอุดหนุนจากกทม. การจัดตั้งสภาประชาคมให้เป็นกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับเขตและกรุงเทพมหานคร โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต และนางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ปัจจุบันจำนวนชุมชนในกรุงเทพฯเพิ่มมากขึ้นกว่า 2,000 ชุมชน แต่ละชุมชนได้รับเงินอุดหนุนรายเดือน จำนวน 5,000 บาท 7,500 บาท และ 10,000 บาท ตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงอ่อนแอและมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานครน้อย ทำให้ขาดพลังในการแก้ปัญหาชุมชน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายผู้ว่าฯ กทม. 216 ข้อสู่การปฏิบัติได้จริง เครือข่ายชุมชนกรุงเทพ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน ซึ่งเป็นเครือข่ายจาก 20 เขต จึงนำเสนอ 3 มาตรการพัฒนานโยบายเชิงโครงสร้างส่งเสริมชุมชนกรุงเทพฯสู่ความเข้มแข็ง ดังนี้ เรื่องที่ 1 คือการมีส่วนร่วมและส่งเสริมธรรมาภิบาล กทม. ซึ่งในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อกทม.และสำนักงานเขตอยู่ในระดับต่ำ สำนักงานเขตในฐานะเป็นผู้รับ ขาดบทบาทสร้างสรรค์เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ และข้าราชการไม่เปิดโอกาสเสนอความเห็นในเป้าหมายและวิธีทำงานของฝ่ายราชการ สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.ได้จัดตั้งภาคประชาชนเป็นกลไกส่งเสริมธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริตกทม. ทำให้ภาคประชาชนมีช่องทางเข้าร่วมสร้างธรรมาภิบาลหน่วยงาน กทม. และป้องกันการทุจริตในโครงการต่าง ๆ ได้

เรื่องที่ 2 ให้ชุมชนจัดทำแผนพัฒนารายปีโดยเงินอุดหนุนจากกทม. ซึ่งในปัจจุบันกทม.จัดงบประมาณอุดหนุนชุมชนรายเดือนตามขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ (5,000 บาท 7,500 บาท 10,000 บาท) พบอุปสรรคไม่ตรงความต้องการชาวบ้าน เนื่องจากมีระเบียบติดขัดในการนำไปใช้ สร้างปัญหาให้กรรมการชุมชน โดยต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วเบิกย้อนหลัง ซึ่งล่าช้า หลายรายการเบิกไม่ได้ หรือเขียนใบเสร็จไม่ตรงกับความเป็นจริง นำสู่ความไม่โปร่งใส หลายชุมชนไม่ทำเบิกเนื่องจากไม่มีเงินสำรอง ทำให้ชุมชนเสียสิทธิ์

เรื่องที่ 3 ให้จัดตั้งสภาประชาคม โดยในปัจจุบันสำนักงานเขตเป็นผู้สร้างกลุ่มที่มีการจัดตั้งโดยภาครัฐ เช่น กรรมการชุมชน อสส. อปพร.ฯลฯ ได้เข้าร่วมกับภาคราชการได้รับบริการและได้รับประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่ที่มีความหลากหลายขาดการจัดตั้งไม่ได้รับรู้งานกทม. ทำให้ประชาชนมีบทบาทที่เฉื่อยชา อุปสรรคสำคัญคือขาดองค์กรประสานงานกับกลุ่มที่ไม่เป็นองค์กรจัดตั้งที่ภาครัฐรับรอง จึงควรมีการจัดตั้งองค์กรลักษณะพิเศษ “สภาประชาคม” ทำหน้าที่เป็นองค์กรประสานงานกลุ่มประชาชนต่าง ๆ เพื่อให้ได้เข้าร่วมทำงานกับกทม. เพื่อเสนอปัญหา แนวทางแก้ไข ร่วมในโครงการนโยบาย 218 ข้อของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้รับทราบข้อเสนอของ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” ทั้ง 3 ประเด็น โดยเบื้องต้นในส่วนของการร่วมทำนโยบาย คือ เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณปี 2566 ให้ชุมชนละ 200,000 บาท ส่วนเรื่อง “สภาประชาคม” ซี่งจะมาแทน ส.ข. จะตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้ครอบคลุมทุกปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้าหมาย

นอกจากนี้ เครือข่ายชุมชนได้เสนอตัวอย่างการเข้าร่วมในการนำนโยบาย “ทะลวงเส้นเลือดฝอย” เพื่อแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชน อาทิ เขตคลองเตย ให้ตรวจสอบรุกล้ำคูคลอง เป็นเหตุน้ำท่วมชุมชนและถนนพระราม 4 ติดตั้งประปาหัวแดงวางระบบป้องกันอัคคีภัยชุมชน โดยเสนอให้จัดระบบป้องกันอัคคีภัยชุมชนเป็นระบบ ได้แก่ จัดทำแผนทางหนีไฟในชุมชน ติดตั้งก๊อกหัวแดงตรวจสายไฟเก่า ฝึกอบรมอาสาป้องกันภัยชุมชน พื้นที่นำร่อง 12 ชุมชนในเครือข่ายฯ การซ่อมบำรุงถนน ทางเข้าชุมชนเขตวัฒนา ให้ส่งเสริมอาชีพหาบแร่แผงลอย โดยหาสถานที่เหมาะสมให้หาบเร่ เทศกิจไม่รีดไถ นำร่องโครงการยกระดับผู้ค้า Street Food หรือ ผู้ค้าหาบเร่ริมถนนให้มีมาตรฐาน นำเสนออาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการและอนามัย


เขตคลองสามวา ที่มีปัญหาเรื่องคูคลอง การฟื้นฟูถนน เขื่อนทรุด สะพานข้ามคลองพัง โดยชุมชนสำรวจปัญหาถนนและประสานงานกับสำนักงานเขตคลองสามวา กำหนดชุมชนเป้าหมาย 5 ชุมชน 

เขตสายไหม เสนอให้สำนักงานเขตและสำนัก มีแผนบูรณาการสอดคล้องกันในพื้นที่เป้าหมาย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

โครงการฝายกั้นคลื่นและฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่งกทม.ดำเนินงานใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดทำเขื่อนไม้ไผ่กันคลื่น แต่ไม่เกิดผลคุ้มค่า ชุมชนเสนอให้ตรวจสอบความโปร่งในโครงการฝายกั้นคลื่น และเสนอการพัฒนายั่งยืนโครงการปลูกป่าชายเลน เสนอเขตบางขุนเทียนเป็นตัวอย่างฟื้นฟูคูคลองเป็นเส้นเลือดฝอยจากคลองสู่อ่าวไทย ฟื้นฟูการประมง พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงปัญหาขาดแคลนศูนย์อนามัยเขตบางขุนเทียน โดยเสนอให้เพิ่มศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่รอบนอก ยกระดับศูนย์สาธารณสุขเป็น หน่วยพยาบาลท้องถิ่น ฟื้นฟูศูนย์สุขภาพชุมชน เชื่อมโยงกับศูนย์สาธารณสุข การจัดระเบียบสายไฟ และฟื้นฟูคูคลองระบายน้ำชุมชน

ทั้งนี้ “กลุ่มชุมชนร่วมผู้ว่าชัชชาติทำงาน” ได้เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานติดตามโครงการนโยบาย ดังนี้
1. ผู้ว่าฯกทม.จัดตั้งภาคประชาชนร่วมเป็นทีมติดตามโครงการนโยบายผู้ว่าฯ กทม.
2. กทม.รับรองคณะทำงานรายประเด็น ทำหน้าที่ติดตามงานที่มอบหมายและรายงานตรงต่อผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้รองปลัดกรุงเทพมหานครที่กำกับดูแลปัญหาดังกล่าว ลงพื้นที่ติดตามการ “ทะลวงเส้นเลือดฝอย” ตามข้อร้องเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานผลการดำเนินการต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น