ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สัญจรเขตบางเขน เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ชี้หากฝนไม่หนักซ้ำคาด 2 วัน น้ำยุบ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สัญจรเขตบางเขน เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ชี้หากฝนไม่หนักซ้ำคาด 2 วัน น้ำยุบ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมรับทราบปัญหาในเขตบางเขน ตามโครงการ “ผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต” ก่อนตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ ชุมชนหลังตลาดยิ่งเจริญ และคอนโดฯ บริเวณถนนเทพรักษ์ บริเวณจุดก่อสร้างสะพานข้ามแยกถนนเทพรักษ์ พร้อมตรวจเยี่ยมลานกีฬา ตลาดนัดชุมชน และดนตรีในสวน ณ ชุมชนสินทรัพย์นคร

ผู้ว่าฯ เปิดเผยว่า เขตบางเขนมีปัญหาหลักคือเรื่องน้ำท่วม มีคลองหลักคือคลองลาดพร้าวซึ่งขณะนี้น้ำยังสูงอยู่ เกิดจากฝนตกหนักในช่วงเดือนนี้ จะเห็นได้ว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ฝนตกเยอะ หลายปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนก.ย. มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งกรุงเทพฯ ประมาณ 320 มิลลิเมตร ตอนนี้เกินแล้ว จากวันที่ 1 - 10 ก.ย. 65 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 330 มิลลิเมตร เป็นสภาวะที่ฝนตกรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขน ปริมาณฝนสะสมสูงถึง 178 มิลลิเมตร ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดคือการดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากที่ดูเมื่อคืนนี้ถนนหลักในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากคลองที่มีปัญหาน้ำลดลงได้ค่อนข้างเร็ว

ปัจจุบัน กทม. มีคลองหลัก ๆ ที่มีปัญหาระดับน้ำในคลองเกินค่าวิกฤต อยู่ 3 คลอง ได้แก่ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองประเวศบุรีรมย์ มีเขตที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ลาดกระบัง บางเขน ดอนเมือง สายไหม และหลักสี่ ซึ่งต้องเร่งระบายน้ำออกในช่วงจังหวะที่ฝนลดลง

จากการติดตามไล่ดูทั้งหมด ชุมชนฝั่งบางเขน บริเวณถนนรามอินทรา ฝั่งเลขคี่ จะมีปัญหาคือคลองไม่สามารถระบายน้ำไปลงคลองลาดพร้าวได้ จึงต้องมีแผนในการบล็อกน้ำแล้วดูดออก ซึ่งตามที่ผอ.เขตรายงานคาดว่าถ้าฝนไม่ตกลงมาหนักมาก ภายใน 2 วัน น้ำน่าจะยุบลงเกือบหมด โดยตอนนี้มีการช่วยดูแลและบรรเทาปัญหาให้แก่คนในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว

● น้ำท่วมด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ ระยะยาวต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง

ในส่วนของถนนเทพรักษ์ ซึ่งเชื่อมกับถนนรามอินทราฝั่งเลขคี่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังนานนั้น น้ำจะต้องไปลงคลองลำผักชีแล้วจึงไปลงคลองลาดพร้าวซึ่งตอนนี้น้ำเต็ม ตามหลักการระบายน้ำ น้ำต้องไปลงคลองย่อย แล้วค่อยไปลงคลองหลัก ซึ่งเมื่อคลองหลักเต็ม น้ำก็จะวนกลับหากสูบน้ำ จึงจะต้องมีการบล็อกตามพื้นที่ เพื่อให้สามารถดูดน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แต่อย่างที่เรียนว่าเป็นอิทธิพลของฝนที่ตกมาเกินกำลังของคลอง ทั้งนี้ ได้กำชับสั่งการให้ไปดูว่ามีผลมาจากเรื่องของการก่อสร้างด้วยหรือไม่ มีเศษหิน เศษปูน หรือทรายในท่อระบายน้ำหรือไม่ และต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจุดที่น้ำท่วมขังนานด้วย

ข้อเท็จจริง แต่ก่อนรามอินทราคือคันกั้นน้ำของ กทม. ถนนรามอินทราเลขคี่เป็นถนนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพน้อยลง ในระยะยาวคงต้องปรับถนนให้สูงขึ้น

ในส่วนของคอนโดฯ บริเวณถนนเทพรักษ์ ที่น้ำท่วมชั้นใต้ดิน ต้องแก้ด้วยการสูบน้ำออก ซึ่งตอนนี้ปั๊มน้ำเราเต็มกำลัง เนื่องจากกระจายไปอยู่ที่สุขุมวิท 71 ที่มีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ เช้านี้ก็ได้ให้ทางสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปช่วยดู รวมทั้งดับเพลิงด้วย สำหรับเคหะรามอินทราก็เป็นจุดต่ำ ต้องใช้วิธีสูบออกลงคลอง ยกเว้นจะยกพื้นให้สูงขึ้น เพราะนี่คือข้อเท็จจริงทางกายภาพ โดยในระยะยาวต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านคลองลาดพร้าว คลองเปรมฯ เอง ก็มีปัญหาเรื่องเขื่อน จะเห็นว่าเรามีชุมชนบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองอยู่ พอทำเขื่อนไม่เสร็จ เราไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพคลองได้ ท้องคลองอยู่ระดับที่ -2 เมตร ควรจะกดไปถึง -3.5 เมตร ถ้ากดท้องคลองได้ก็สามารถรับน้ำและดันน้ำไปได้มากขึ้น เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันไม่ว่าจะเป็นการทำบ้านมั่นคง การดูแลคนที่อยู่ริมคลอง ทำเขื่อนต่อให้เสร็จ และทำการลอกคลอง ถ้ามีบ้านรุกล้ำอยู่ แล้วเราลอกคลองก็มีโอกาสที่บ้านจะสไลด์ลงมาได้

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำบ้านมั่นคงที่ลาดพร้าว โดยทำเขื่อนได้หลายช่วงแล้ว คลองเปรมฯ ช่วงจตุจักรก็เช่นเดียวกันทำได้เยอะแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านที่รุกล้ำอยู่ซึ่งเป็นอุปสรรค แต่ก่อนก็พอจะระบายได้เพราะบ้านเรือนไม่มี พอเราใช้ 2 แนวนี้เป็นตัวระบายน้ำหลักเหนือ-ใต้ อันนี้คือจุดหัวใจ

ถามว่าอุโมงค์ระบายน้ำช่วยไหม มันช่วยเป็นจุด อย่างคลองเปรมฯ ก็มีอุโมงค์ แต่อุโมงค์ระบายน้ำอยู่ปลายทาง น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ มันต้องดันน้ำไปให้ถึง ถามว่าจะทำอุโมงค์รับน้ำได้ไหม ก็ต้องลงทุนอีกเป็นหมื่นล้าน จึงคิดว่าลงทุนกับคลองดีกว่า ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงให้หมด

● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เชื่อ ไม่มีการวางงาน ขอบคุณคำแนะนำ พร้อมรับไปปรับปรุง

ช่วงนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเยอะ ว่าเราต้องทำอะไร อันนี้ต้องเรียนว่ายุทธศาสตร์เรามีอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าอาทิตย์แรกที่เรามา เราได้คุยกับกรมราชทัณฑ์เลย เรื่องลอกท่อ เพราะรู้ว่าจุดบอดคือเส้นเลือดฝอยที่ไม่สามารถพาน้ำไปได้ เรามีการดูปั๊ม และพยายามลอกคลอง นี่คือสิ่งที่เราทำได้ในช่วงนี้ จริง ๆ แล้วเราก็มีแผนชัดเจนว่าจะทำอะไร เราร่วมมือกับทุกหน่วยไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ ทหาร กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด เพราะเราต้องประสานความร่วมมืออยู่แล้ว มันมีเงื่อนไขทางด้านกายภาพอยู่ คือฝนตกหนักจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ท่วมจังหวัดเดียว ปทุมธานีก็ท่วม ปากน้ำ สมุทรปราการก็ท่วม ส่วนในอนาคตต้องเพิ่มกำลังและประสิทธิภาพเขตในการช่วยเหลือประชาชน

ผู้ว่าฯ ได้ให้ความเห็นในเรื่องที่นักข่าวถามว่า มีการสร้างสถานการณ์หรือการวางงานหรือไม่ ว่าไม่ได้คิดเรื่องนี้ ชีวิตต้องมองบวก เชื่อว่าทุกคนอยากทำงานร่วมกันในข้อกำหนดที่มี ต้องขอบคุณที่ช่วยแนะนำในมุมมองที่เราอาจจะไม่เคยคิด อันไหนที่ปรับปรุงได้ก็จะปรับปรุง เท่าที่ดูคิดว่าทุกคนร่วมมือกัน

ส่วนเรื่องโยกย้าย อาจจะมีคนที่ผิดหวัง แต่เชื่อว่าไม่มีผลอะไรทำให้เกิดผลลบได้ เชื่อว่าข้าราชการส่วนใหญ่อยากจะทำงานอยู่แล้ว และทุกคนก็คิดถึงอนาคตอีกไกล อย่าง ผอ.เขตทุกท่านก็ร่วมลงลุยกับเรา ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ก็ขอขอบคุณสำหรับข้อสังเกต เราก็รับดูทุกท่าน หรืออย่างการระบายน้ำลาดกระบัง เรารู้อยู่แล้วว่าต้องออกไปคลองพระองค์เจ้าฯ เข้ามาด้านล่าง หรือลงด้านใต้ แต่การออกไปพื้นที่อื่นนั้น กรมชลประทานเป็นผู้ตัดสินใจ เราไม่สามารถทำได้เพราะเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ ถ้าต่างคนต่างบริหารน้ำตัวเอง สุดท้ายอาจทะเลาะกันหมด ฉะนั้น ต้องให้กรมชลประทาน ซึ่งดูแลรับผิดชอบภาพรวมเป็นผู้กำหนดว่าจะสูบออกเท่าไร ให้เข้ามาข้างในเท่าไร ที่เหลือข้างในเราจัดการเองว่าจะส่งน้ำเข้าอย่างไร

"มีคนติ เราก็ต้องไปปรับปรุง สำหรับการทำงานร้อยวันที่ผ่านมาคิดว่าเราทำเต็มที่ เชื่อว่าเรื่องน้ำท่วม เราทำได้ดี อย่างเมื่อคืนถนนหลัก ๆ ก็แห้ง ถ้าไม่ติดเงื่อนไขเรื่องกายภาพ ที่คลองมันล้นจริง ๆ อย่างเมื่อวานเส้นเลือดฝอยที่เราไปขุดไปลอกท่อหลายจุดก็ลงได้เร็วขึ้น ซึ่งการทำงานก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด แต่ก็น้อมรับทุกความเห็นและจะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น