ก.แรงงาน จับมือเอกชน อัดโปรแกรมฝึกอบรมช่างปูกระเบื้อง 20 จังหวัด - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565

ก.แรงงาน จับมือเอกชน อัดโปรแกรมฝึกอบรมช่างปูกระเบื้อง 20 จังหวัด


กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จับมือบ. เอสซีจี เซรามิกส์ พัฒนาช่างปูกระเบื้อง 20 จ. ยกระดับมาตรฐานเข้าถึงค่าจ้างขั้นสูง ตั้งเป้าฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 500 คน

วันที่ 5 กันยายน 2565 นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงนามความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างปูกระเบื้อง ณ ห้องประชุมกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า ในปัจจุบันการพัฒนาทักษะช่างฝีมือจำเป็นต้องได้ความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพราะมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เทคโนโลยีเฉพาะทาง เข้าใจกลไกตลาดแรงงานต่างๆ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของกำลังแรงงานและประชาชนทั่วไป โดยความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกรายใหญ่ในประเทศไทยก็เช่นกัน ในช่วงระหว่างปี 2556-2564 ได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมช่างปูกระเบื้องจำนวน 6,939 คน พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job)



นายประทีป กล่าวต่อไปว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จที่ผ่านมา มีเป้าหมายยกระดับกลไกการทำงานร่วมกัน โดยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรช่างปูกระเบื้องให้แก่ช่างก่อสร้างในพื้นที่ 20 จังหวัด เช่น สงขลา สกลนคร ลำพูน นครพนม บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา และเพชรบูรณ์ เป็นต้น การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการปูกระเบื้องเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น ศาลาอเนกประสงค์ วัด โรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 18-30 ชม. เริ่มฝึกอบรมตั้งบัดนี้ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 คาดว่าจะมีผู้เข้าการฝึกอบรมจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ทั้งนี้ทางบริษัทได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์กระเบื้อง มูลค่า 500,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม และการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ระดับภูมิภาคที่ผ่านมา



“ช่างปูกระเบื้อง เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีการจ้างงานเป็นประจำในการก่อสร้างหรือปรับปรุงที่พักอาศัย อาคารและสถานที่ต่างๆ ซึ่งช่างที่มีฝีมือยังได้รับค่าจ้างสูงกว่าช่างทั่วไปอีกด้วย ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานจึงช่วยสนับสนุนให้ช่างปูกระเบื้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือและความรู้ ความชำนาญในการปูกระเบื้องได้อย่างถูกต้อง ได้มาตรฐาน ได้รับค่าจ้างที่สูงและตอบสนองความต้องการของผู้ว่าจ้างได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกพร. กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น