เมื่อวันที่ 12 ก.ย.65 เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสายไหม ประกอบด้วย สวน 15 นาที สวนเฉลิมพระเกียรติ (สวนสายไหม) มีพื้นที่ 8 ไร่ 3 งาน บ่อน้ำลึก 5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ลู่วิ่งรอบบ่อ ความยาว 200 เมตร กว้าง 3 เมตร เดินทางเข้า-ออกได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนสายไหมซอย 76 และถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 73 เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00 -20.00 น.ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ บำรุงรักษาต้นไม้ สถิติประชาชนเข้ามาใช้บริการ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 รวม 29,745 เฉลี่ย 3,720 คน/เดือน ด้านสาธารณูปโภคในสวน ไฟฟ้าส่องสว่างทางเดิน 23 ต้น ใช้การได้ 6 ต้น (อยู่ระหว่างรอการจัดซ่อม) อาคารห้องสุขา จำนวน 1 หลัง แบ่งเป็นห้องน้ำชาย 3 ห้อง และห้องน้ำหญิง 5 ห้อง ใช้ได้ 3 ห้อง
จากนั้น เยี่ยมชมต้นแบบการแยกขยะ ศูนย์การเรียนรู้การจัดการมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม บริเวณริมคลองหมอน 40 ซอยสายไหม 56 เนื้อที่ 316.25 ตารางวา เริ่มดำเนินการประมาณปี 2549 บริเวณใต้ทางด่วนกาญจนาภิเษก ซอยจตุโชติ โดยขอใช้พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต่อมาการทางพิเศษฯ ขอที่คืนเพื่อทำการก่อสร้างโครงการการทางด่วน ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ได้ประสานกับฝ่ายโยธาเพื่อตรวจสอบพื้นที่ในเขตสายไหม โดยได้ที่บริเวณซอยสายไหม 56 ซึ่งเริ่มแรกเป็นพื้นที่รกร้าง ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ได้เข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ โดยไม่ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร แต่ใช้วิธีจัดการทอดผ้าป่ารีไซเคิล และนำรายได้จากการทอดผ้าป่ามาเป็นทุนในการดำเนินการจัดสร้างบ่อหมักขยะและจัดซื้อเครื่องบดย่อยขนาดเล็ก ปัจจุบันสำนักสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนเครื่องบดย่อยขนาดใหญ่ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อใช้สำหรับบดย่อยกิ่งไม้ภายในพื้นที่ เพื่อนำมาทำปุ๋ยหมัก และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชน สถานประกอบการ โรงเรียน ช่วยกันคัดแยกขยะอินทรีย์ทำปุ๋ยใช้เอง และขายเป็นรายได้ของครอบครัวโดยจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา สถานประกอบการศึกษาเรียนรู้ วิธีการคัดแยกขยะจนถึงวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยน้ำชีวภาพ ผลดำเนินการของศูนย์เรียนรู้ มีการลดปริมาณขยะได้ 8,851.13 ตัน/ปี (16.93 ตัน/วัน)ต่อมา เดินทางไปยังชุมชนหมู่บ้านทัพฟ้า ซอยสายไหม 44 เยี่ยมชมการจัดการขยะโดยชุมชน ซึ่งชุมชนดังกล่าว มีพื้นที่ 40 ไร่ ประชากร 451 คน 175 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ชุมชนเขตเมืองชั้นนอก มีการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะตามประเภทแหล่งกำเนิด ดังนี้ 1.กิจกรรมการคัดแยกขยะครบทั้ง 4 ประเภทตามที่กำหนด (ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ขยะทั่วไป) 2.กิจกรรมจัดทำป้ายนิเทศให้ความรู้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง 3.กิจกรรมคัดแยกขยะในบริเวณชุมชน รวบรวมขยะที่สามารถนำไปใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ 4.กิจกรรมการลดขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง 5.กิจกรรมนวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน นำขยะรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นเครื่องบิน กังหันใบพัด หรือการนำกระป๋องมาทำเป็นซอ นำเศษพลาสติกมาทำเป็นกังหันเป็นดอกไม้ โดยมีปริมาณขยะทั้งหมดก่อนดำเนินการประมาณ 600 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ย 1.33 กิโลกรัม/คน ปริมาณขยะทั้งหมดหลังดำเนินการประมาณ 350 กิโลกรัม/ วัน เฉลี่ย 0.78 กิโลกรัม/คน ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลงประมาณ 250 กิโลกรัม/วัน ส่วนปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะอินทรีย์ประมาณ 80 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ย 0.18 กิโลกรัม/คน ขยะรีไซเคิลประมาณ 70 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ย 0.13 กิโลกรัม/คน ขยะทั่วไปประมาณ 100 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ย 0.22 กิโลกรัม/คน รวมปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ประมาณ 250 กิโลกรัม/วัน เฉลี่ย 0.55 กิโลกรัม/คน คิดเป็นร้อยละ 41.67 จากขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเขตสายไหม จะเข้าจัดเก็บขยะสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี
สำหรับจุดเสี่ยงด้านความปลอดภัย อุบัติเหตุ และอาชญากรรม ในพื้นที่เขตสายไหม มีจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 52 แยก 34 2.ถนนเลียบคลองหกวา 3.ถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก (ฝั่งตะวันออก) 4.ถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก (ฝั่งตะวันตก) 5.โค้งตัวเอส ถนนจตุโชติตัดกับถนนกาญจนาภิเษก 6.สะพานลอยคนเดินข้ามพหลโยธิน กม. 25 ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) 7.สะพานลอยคนข้ามหน้าตลาดวงศกร ถนนสายไหม 8.ป้ายรถประจำทางแยกลำลูกกา ถนนพหลโยธิน 9.ป้ายรถประจำทางปากซอยพหลโยธิน 58 ถนนพหลโยธิน และ 10.ท่าน้ำสะพานคู่ถนนสายไหม ลักษณะความเสี่ยง ทั้ง 10 แห่ง เป็นพื้นที่เปลี่ยวในเวลากลางคืน ทั้งนี้ เขตสายไหมได้ดำเนินการแก้ไขในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้ 1.ปรับภูมิทัศน์ดูแลตัดแต่งต้นไม้ 2.ติดตั้งกล้อง CCTV 3.ติดป้ายประชาสัมพันธ์ 4.ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง 5.จัดเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัย วันละ 3 ครั้ง 6.ตรวจไฟฟ้าส่องสว่าง ตรวจกล้อง CCTV ให้พร้อมใช้การได้ โดยในวันนี้ได้ตรวจจุดเสี่ยงภัยบริเวณถนนเลียบคลองหกวาช่วงใต้สะพานรถไฟฟ้า ด้านหลังตลาดเอซี สายไหม ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงประเภทเปลี่ยวเวลากลางคืน เป็นเส้นทางเข้าออกของผู้พักอาศัยริมคลองหกวา ประมาณ 300 หลังคาเรือน เพื่อเดินทางออกไปทำงานทั้งทำงานประจำและประกอบอาชีพส่วนตัว ถนนค่อนข้างแคบ ประมาณ 4-6 เมตร มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ มีการติดตั้งกล้อง CCTV เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่บริเวณถนนเลียบคลองหกวาช่วงใต้สะพานรถไฟฟ้า ด้านหลังตลาดเอซี สายไหม ทุกวัน 3 ช่วงเวลา ช่วงเช้าเวลา 06.00-13.00 น. ช่วงบ่ายเวลา 13.00-18.00 น. ช่วงกลางคืนเวลา 18.00-06.00 น. (ของวันรุ่งขึ้น)
นอกจากนี้ เขตสายไหมได้ดำเนินการถนนนำร่องที่มีการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกันตลอดทั้งเส้น คือถนนเทพรักษ์ มีระยะทางทั้งหมดจากถนนพหลโยธินถึงถนนสุขาภิบาล 5 ความยาวประมาณ 4,600 เมตร ในส่วนที่เขตสายไหมดูแลรับผิดชอบมีความยาวประมาณ 1,700 ม. อยู่ระหว่างซอยเทพรักษ์ ฝั่งเลขคี่ 13-45 และระหว่างซอยเทพรักษ์ฝั่งเลขคู่ 12-40 มีคลองลำผักชีเป็นคลองแบ่งเขตพื้นที่ระหว่างเขตสายไหมกับเขตบางเขน ซึ่งบริเวณริมถนนทั้ง 2 ฝั่ง จะปลูกต้นแคนาตลอดแนว จำนวน 495 ต้น บริเวณเกาะกลางถนนเทพรักษ์ปลูกต้นปีบ ต้นชาฮกเกี้ยน ต้นเฟื่องฟ้า รวมถึงมีการจัดสวนหย่อมขนาดเล็กบริเวณที่เป็นสาธารณะริมถนน 5 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณคลองผักกะเฉด ตรงข้ามซอยเทพรักษ์ 45 ต้นไม้ที่ปลูก เช่น รวงผึ้ง ชาฮกเกี้ยน นีออน ต้นชะแมบทอง อินทนิล 2.บริเวณหน้าหมู่บ้านระเบียงทอง 3 ซอยเทพรักษ์ 33 ต้นไม้ที่ปลูก เช่น หมากเขียว ปรงญี่ปุ่น นีออน ชาฮกเกี้ยน เฟื่องฟ้า 3.บริเวณหน้าหมู่บ้านสวนทองนิเวศน์ 3 ซอยเทพรักษ์ 36 ต้นไม้ที่ปลูก เช่น ทองอุไร เข็มเชียงใหม่ ชาฮกเกี้ยน 4.บริเวณข้างร้านแต๋วผัดไท ซอยเทพรักษ์ 31 ต้นไม้ที่ปลูก เช่น ชงโค ลิ้นกระบือ คริสติน่า ชาฮกเกี้ยน 5.บริเวณหมู่บ้านสินทรัพย์นคร ซอยเทพรักษ์ 15 ต้นไม้ที่ปลูก เช่น อโศกอินเดีย นีออน ไทรเกาหลี เทียนทอง ชาฮกเกี้ยน
ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตสายไหม นายยงทวี โพธิษา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสายไหม สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดลัอม ชุมชนหมู่บ้านทัพฟ้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี
----- (จิรัฐคม...สปส.รายงาน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น