รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ย่านลาดพร้าว ชมต้นแบบจัดการขยะชุมชนหมู่บ้านสมิทธิโชติ แก้จุดเสี่ยงอุบัติเหตุหน้าห้างเซ็นทรัลฯ อีสวิลล์ พัฒนาสวนสุขภาพอยู่เย็นเป็นสวน 15 นาที ตรวจพื้นที่ทำการค้าตลาดบัวพัฒนา - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ย่านลาดพร้าว ชมต้นแบบจัดการขยะชุมชนหมู่บ้านสมิทธิโชติ แก้จุดเสี่ยงอุบัติเหตุหน้าห้างเซ็นทรัลฯ อีสวิลล์ พัฒนาสวนสุขภาพอยู่เย็นเป็นสวน 15 นาที ตรวจพื้นที่ทำการค้าตลาดบัวพัฒนา

9 ก.ย.65) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตลาดพร้าว จำนวน 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ต้นแบบการจัดการขยะ ชุมชนหมู่บ้านสมิทธิโชติ ซอยลาดพร้าววังหิน 76-78 พื้นที่โดยประมาณ 15 ไร่ ประชากร 440 คน จำนวน 190 ครัวเรือน ลักษณะเป็นชุมชนขนาดเล็ก อาคารพักอาศัยเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น กิจกรรมในชุมชนร่วมกันคัดแยกขยะในครัวเรือน มีการดำเนินการธนาคารขยะในชุมชน โดยได้เข้าร่วมโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ปี 2565 และผ่านการคัดเลือกผ่านเข้ารอบที่ 1 เป็น 1 ใน 35 ชุมชนปลอดขยะของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมการคัดแยกขยะ ได้แก่ ให้ความรู้การคัดแยกขยะ รณรงค์ลดการใช้พลาสติกและโฟม ธนาคารขยะ ตลาดนัดรีไซเคิล รวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้ว (จัดเดือนละครั้ง) ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมัก จุดรวบรวมขยะอันตราย (แจ้งเขตฯ เข้าไปจัดเก็บ) จุดรวบรวมขยะติดเชื้อ (เขตฯ จัดเก็บทุกวันเสาร์) ส่วนการจัดเก็บขยะในชุมชน เขตฯ เข้าจัดเก็บขยะวันเว้นวัน ปริมาณขยะ (เดือนตุลาคม 2564- กรกฎาคม 2565) ก่อนดำเนินการโดยเฉลี่ย 8,254 กิโลกรัม/เดือน หลังดำเนินการโดยเฉลี่ย 7,500 กิโลกรัม/เดือน ปริมาณขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เฉลี่ย 754 กิโลกรัม/เดือน

จุดที่ 2 จุดเสี่ยงความปลอดภัย อุบัติเหตุและจราจรติดขัด (Friction Spot) ในพื้นที่เขตลาดพร้าว มีจำนวน 6 จุด ประกอบด้วย ถนนประดิษฐ์มนูธรรม 2 จุด ได้แก่ หน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสวิลล์ ซึ่งเขตฯ ได้ประสานสำนักการโยธาดำเนินการแล้ว โดยตัดคันหินขยายช่องทางออกจากห้างเซ็นทรัลให้กว้างขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกไม่ให้รถเบียดออกด้านขวา พร้อมทั้งประสานสำนักการจราจรและขนส่ง ปรับปรุงทางม้าลาย/ติดตั้งสัญญาณไฟให้ชัดเจน ซึ่งอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ นอกจากนี้ได้ประสานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก่อสร้างทางเดินเท้าลอดใต้ทางด่วนเชื่อมต่อทางม้าลาย และขยายช่องทางกลับรถ/ตั้งวางเสากั้นป้องกันรถเบียดซ้ายเข้าห้างเซ็นทรัล ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา และจุดตัดถนนประเสริฐมนูกิจ (ด้านตลาดหัวมุม) ประสานกรมทางหลวงดำเนินการแล้ว โดยนำแบริเออร์ตั้งวางป้องกันรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนการขับรถตรงไปตัดกระแสจราจร ถนนประเสริฐมนูกิจ ด้านหลังโรงเรียนสตรีวิทยา 2 สถานีตำรวจนครบาลโคกคราม จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันการฝ่าฝืนจอดรถบนผิวการจราจร ถนนสุคนธสวัสดิ์ 2 จุด ได้แก่ ทางแยกเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา 2 สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันและอำนวยการจราจร และหน้าโรงเรียนอนุบาลโชคชัย (ครูเกียว) สถานีตำรวจนครบาลโคกคราม จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันและอำนวยการจราจร ถนนลาดปลาเค้า (หน้าตลาดบัว) ฝ่ายเทศกิจจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ 2 นาย กวดขันผู้ค้าบริเวณจุดทำการค้าและอำนวยการจราจร

จุดที่ 3 สวน 15 นาที บริเวณสวนสุขภาพอยู่เย็น สำนักงานเขตลาดพร้าว ได้พัฒนาพื้นที่บริเวณซอยอยู่เย็น 3 เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย ประกอบกับบริเวณใกล้เคียงไม่มีสวนสาธารณะ เดิมบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่หลวง อยู่ระหว่างเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน มีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเปลี่ยนจากที่เลี้ยงสัตว์เป็นสวนสาธารณะ ซึ่งกรมที่ดินนำมติของคณะกรรมการฯ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติ อยู่ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติหรือสั่งการเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ตามบริเวณพื้นที่ดังกล่าว มีอาคารที่รุกล้ำ จำนวน 22 หลังคาเรือน 34 ครอบครัว รื้อย้ายแล้ว 11 หลังคาเรือน 12 ครอบครัว คงเหลือ 11 หลังคาเรือน 22 ครอบครัว โดยบางส่วนได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง และบางส่วนไปอาศัยอยู่กับญาติ โดยเขตฯ จะปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภค อาทิ ทางเดิน-วิ่ง ความกว้าง 3.50 ม. ความยาว 1,000 เมตร ลานกิจกรรมและออกกำลังกาย ลานสนามเด็กเล่น ศูนย์การเรียนรู้ ศาลาพักผ่อน ห้องน้ำสาธารณะ ทางเดินเข้าสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ภายในสวนดังกล่าว

สำหรับโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สำนักงานเขตลาดพร้าว มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ตามนโยบายภายในระยะเวลา 4 ปี แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 6,100 ต้น ไม้พุ่ม 5,300 ต้น ไม้เลื้อย 1,700 ต้น รวม 13,100 ต้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2565 ปลูกไม้ยืนต้น 554 ต้น ไม้พุ่ม 413 ต้น ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นมะขาม ต้นสะเดา ต้นขี้เหล็ก ต้นรวงผึ้ง ต้นอโศกอินเดีย บริเวณริมคลองลาดพร้าว ท้ายซอยลาดพร้าววังหิน 57 ริมคลองลาดปลาเค้า หมู่บ้านเสนานิเวศน์ 2 ริมบึงหมู่บ้านเฟรนชิฟ สวนสุขภาพหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 สวนสุขภาพหมู่บ้านราณี 2 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ตลาดหัวมุม ริมคลองวัดลาดปลาเค้า หมู่บ้านราณี 2

จุดที่ 4 พื้นที่ทำการค้า บริเวณตลาดบัวพัฒนา เดิมเขตลาดพร้าว มีจุดทำการค้า 5 จุด ผู้ค้า 81 ราย (ตามประกาศจุดผ่อนผัน 683 จุด ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2548) ต่อมาได้ยกเลิก 3 จุด ผู้ค้า 26 ราย (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ระดับเขต ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558) ปัจจุบันมีจุดทำการค้า 2 จุด ผู้ค้า 70 ราย (ดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563) ได้แก่ บริเวณหน้าตลาดบัวพัฒนา ถนนลาดปลาเค้า ผู้ค้า 30 ราย (กรุงเทพมหานครประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 บริเวณหน้ากองปราบปราม ถนนโชคชัย 4 ผู้ค้า 40 ราย (อยู่ระหว่างรอประกาศกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่ทำการค้า)

ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้มี นางสาววนิดา เจียงไพศาลกุล ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง นางสุภาพร ศรีศาสนวงศ์ ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตลาดพร้าว ผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี

----- (จิรัฐคม...สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น