ผู้ว่าฯ อัศวิน ติดตามความคืบหน้าสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุดตัว เร่งแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ อัศวิน ติดตามความคืบหน้าสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุดตัว เร่งแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ


(3 มี.ค. 65) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุดตัว โดยมีนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักงานเขตพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ ณ สะพานข้ามคลองเคล็ด ถนนอุดมสุข เขตประเวศ


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เหตุสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุดตัว เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 65 เวลาประมาณ 17.00 น. โดยได้ทรุดตัวจากคลองเคล็ดไปทางถนนศรีนครินทร์ ความยาวประมาณ 80 เมตร ความลึกประมาณ 1.5 - 2 เมตร ส่งผลทำให้ท่อประปา เสาไฟฟ้าและบ้านพักอาศัยของประชาชนได้รับความเสียหาย จำนวน 6 หลัง อาคารพาณิชย์บริเวณข้างเคียงที่ต้องทำการเฝ้าระวังจำนวน 11 คูหา จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากน้ำใต้ดินไหลเข้ามายังภายใน Shaft (อยู่ใต้สะพานคลองเคล็ด) บริเวณด้านล่างของจุดเชื่อมต่อระหว่าง Segment ของอุโมงค์ กับ D-wall ทำให้น้ำพัดทรายใต้อุโมงค์เข้ามาใน shaft และไหลเข้าไปตามตัวอุโมงค์ ซึ่งทรายที่ไหลเข้ามานั้นทำให้ชันดินบริเวณด้านบนอุโมงค์เกิดการทรุดตัว รวมถึงเสาเข็มสะพานข้ามคลองเคล็ดที่ปลายเสาเข็มระดับอยู่เหนืออุโมงค์พังทลายลงมา

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำและดินรั่วไหลเข้าปล่องรับน้ำคลองเคล็ด (S3) สำนักการระบายน้ำดำเนินการสูบน้ำลงในปล่องรับน้ำบึงหนองบอน (S1) และสูบน้ำลงในปล่องรับน้ำที่สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ (S8) ให้ระดับน้ำภายในอุโมงค์เท่ากับระดับน้ำใต้ดิน เพื่อรักษาสมดุลของแรงดันน้ำ (Balance Water Pressure) หยุดน้ำใต้ดินไม่ไหลเข้ามาใน Shaft ป้องกันการทรุดตัวของดินด้านหน้า Shaft และเมื่อการทรุดตัวของชั้นดินยุติแล้ว จะทำการสำรวจชั้นดินที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัว เพื่อนำไปเป็นข้อมูล ในการวิเคราะห์ แก้ไข ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายต่อไป


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรุงเทพมหานครโดยสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักงานเขตประเวศ และกิจการร่วมค้าเอสที-เอสจี ผู้รับจ้างงานก่อสร้าง ได้เข้าพื้นที่และให้ความช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในอาคารดังกล่าว โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการชั่วคราวที่บริเวณปากซอยอุดมสุข 53 ในเบื้องต้นได้มีการรับแจ้งผู้ได้รับผลกระทบ 30 ราย และขอให้ผู้อยู่อาศัยย้ายออกจากอาคาร พร้อมการประสานจัดหาที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งออกหนังสือรับรองผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สะพานคลองเคล็ดทรุดตัว โดยเป็นเจ้าของอาคารที่ได้รับผลกระทบจำนวน 17 ราย และผู้เช่าอาคารรวมถึงผู้ประกอบการในบริเวณดังกล่าวอีกจำนวน 93 ราย ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ต่อไป สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นผู้รับจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้ผู้รับจ้างเร่งสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านรายได้และด้านทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย และเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาโดยเร็วที่สุด


ด้านการแก้ปัญหาการจราจรในถนนอุดมสุข จากเหตุดังกล่าว เนื่องจากต้องปิดการจราจรบริเวณซอยอุดมสุข 58 ถึงซอยอุดมสุข 53 กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับแขวงการทางสมุทรปราการและสถานีตำรวจนครบาลบางนา สำรวจเส้นทางที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนถนนสายหลัก และซอยเชื่อมต่อ อาทิ ซอยอุดมสุข 60 ซอยศรีนครินทร์ 56 ซอยอุดมสุข 51 และซอยศรีนครินทร์ 42 เพื่อเป็นเส้นทางลัดและเส้นทางเลี่ยงออกสู่ถนนบางนา-ตราด และถนนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในถนนอุดมสุข พร้อมทั้งจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์การปิดเส้นทางการจราจรบนถนนอุดมสุข และติดตั้งป้ายบอกเส้นทางเบี่ยงและเส้นทางลัดบริเวณสะพานลอย บริเวณแยกต่างๆ และตามเส้นทางก่อนเข้ามาในถนนอุดมสุข รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ประชาชนได้หลีกเลี่ยงเส้นทางบนถนนอุดมสุข โดยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักงานเขตประเวศ เขตพระโขนง และเขตบางนา ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรและแนะนำการใช้เส้นทาง สำหรับการเปิดเส้นทางสัญจรบริเวณดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจชั้นดิน จากนั้นจะปรับปรุงถนนและสร้างสะพานเหล็ก ขนาด 2 เลน เพื่อประชาชนใช้สัญจรเป็นการชั่วคราว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 65

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น