พม. ร่วมกับเครือข่ายอ่าข่า จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมสืบสานอัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์อ่าข่า โล้ชิงช้า -แย้ขู่อ่าเผ่ว...D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พม. ร่วมกับเครือข่ายอ่าข่า จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมสืบสานอัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์อ่าข่า โล้ชิงช้า -แย้ขู่อ่าเผ่ว...D


เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับเครือข่ายอ่าข่าเพื่อสันติภาพลุ่มน้ำโขงและภาคีเครือข่าย จัดงานสีสันอัตลักษณ์ ประเพณี วิถีชาติพันธุ์ โล้ชิงช้า -แย้ขู่อ่าเผ่ว ณ พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่


โดยได้รับเกียรติจากนายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกล่าวบูรณาการ และนางสาวชุติมา มอแลกู่ ประธานเครือข่ายอ่าข่าเพื่อสันติภาพลุ่มน้ำ กล่าวต้อนรับ


นายกิตติ กล่าวว่า ประเพณีโล้ชิงช้า เป็นประเพณีที่จัดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เป็นประจำทุกปีในช่วงก่อนเทศกาลเก็บเกี่ยวของชาวกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ชิงช้าจะทำด้วยโครงไม้ 4 เสาโค้งเป็นทรงแหลมโดยผูกเชือกเอาไว้ตรงกลางให้ชาวบ้านได้ละเล่น ผู้ชายที่โล้ชิงช้าได้สูง แสดงถึงความเป็นผู้นำ เป็นผู้ชายที่ความแข็งแรง ส่วนผู้หญิงอ่าข่า จะแต่งกายด้วยเครื่องประดับที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าตัวเอง


การจัดงานสีสันอัตลักษณ์ ประเพณี วิถีชาติพันธุ์ โล้ชิงช้า -แย้ขู่อ่าเผ่ว ครั้งนี้เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ความสามัคคี ภายในชุมชนให้เข้มแข็ง เชื่อมโยงสายใยของครอบครัว อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวสร้างรายได้ ส่งเสริมสวัสดิการให้แก่ชุมชนผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการท่องเที่ยว ศิลปินชาติพันธุ์ มากขึ้น


พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ นับว่าเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการเผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีชาติพันธุ์ของตนเอง เป็นการสืบสานให้เยาวชนรุ่นใหม่เล็งเห็นคุณค่าของประเพณีอันดีงามของตน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการบูรณาการร่วมกันกับเครือข่ายอ่าข่าเพื่อสันติภาพลุ่มน้ำโขง ในหลากหลายมิติที่ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยววิถี ชีวิต และวัฒนธรรมของชนเผ่า เกิดคุณค่าทางสังคมและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อไป นายกิตติ กล่าวในตอนท้าย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น