พม.ประชุมเชิงปฏิบัติการงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ในหัวข้อ การพัฒนาศักยภาพฯพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พม.ประชุมเชิงปฏิบัติการงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ในหัวข้อ การพัฒนาศักยภาพฯพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต


เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 66 เวลา 11.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 - 31 สิงหาคม 2566 โดยมี นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมถึงภาคการศึกษาและวิชาการ เครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชน คณะอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประมาณ 500 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ และผ่านระบบ Zoom Meeting



นายอนุกูล กล่าวว่า การประชุมสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เกิดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละครั้ง ตั้งแต่ปี 2553 สำหรับปี 2566 นับเป็นครั้งที่ 15 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งแกนนำเด็กและเยาวชน ได้มาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ และเสนอแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อผลักดันให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีศักยภาพ ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน



นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า ปี 2566 คณะอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้คัดเลือกประเด็น “การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” เป็นหัวข้อหลักในการจัดงานสมัชชาฯ ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1. การพัฒนาทักษะทางด้านสังคม 2. การปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital disruption 3. การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็น “ความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก” 4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน และ 5. การรู้จักสิทธิและหน้าที่ และสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน ซึ่งผลจากการประชุม ทั้ง 2 วัน จะทำให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพและทักษะที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยตนจะร่วมนำข้อมติสมัชชาฯ ไปผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


นางอภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมฯ ครั้งนี้ ทั้งในระดับภาคและระดับชาติ มีรูปแบบผสมผสาน (Online และ On Site) ระหว่างวันที่ 30 - 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การเสวนาและอภิปรายประเด็กหลัก 5 ประเด็น การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี การนำเสนอผลการอภิปรายกลุ่มย่อย และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น การอภิปรายร่างมติ การลงมติ และรับรองมติสมัชชาฯ และการเสนอข้อมติสมัชชาฯ ต่อนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) #ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น