กทม.พร้อมเปิดกว้างนำไอเดียคนรุ่นใหม่ต่อยอดไปสู่นโยบาย เข้าพบผู้บริหารทุก 3 เดือน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2566

กทม.พร้อมเปิดกว้างนำไอเดียคนรุ่นใหม่ต่อยอดไปสู่นโยบาย เข้าพบผู้บริหารทุก 3 เดือน


“ความร่วมมือคือหัวใจสำคัญ กทม.จึงพยายามที่จะเปิดระเบียบ ข้อบัญญัติให้กว้างขึ้น เพื่อให้ทุกส่วนได้มีส่วนร่วม สำหรับข้อเสนอที่ได้รับในวันนี้จะส่งให้ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา ซึ่งหลายข้อตรงกับนโยบายของกทม. ในตอนนี้อยากทำในเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่ โดยดำเนินการเช่นเดียวกับการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และจะเปิดโอกาสให้สภาคนรุ่นใหม่ได้เข้าพบฝ่ายบริหาร ทุก 3 เดือน รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้เรื่องที่นำเสนอสามารถกำหนดเป็นนโยบายได้ ซึ่งที่กำหนดทุก 3 เดือน เพื่อให้เกิดการติดตามและให้เห็นความคืบหน้า โดยตั้งเป้าใน 4 ปี ต้องทำให้เกิดสภาคนรุ่นใหม่นี้ให้ได้” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและเยาวชน ณ ห้องดวงกมล โรงแรมสุโกศล เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 66 


ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเมืองคนรุ่นใหม่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำหนดจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและเยาวชน ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์และร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและเยาวชน พร้อมรับฟังและระดมความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติต่อไป


ทั้งนี้ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) เป็นศูนย์วิจัยที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank – 101 PUB) ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตงานวิชาการ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ เผยแพร่ความรู้ ตลอดจนออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้แก่สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย รวมถึงองค์กรและประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องนโยบายเด็กและครอบครัว



สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัวได้จัดทำรายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวประจำปี เพื่อประมวลประเด็นปัญหาสำคัญที่เด็กและครอบครัวไทยกำลังเผชิญ พร้อมกับจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-25 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 20,000 คน พบว่า ช่วงปี 2564-2565 เด็กและครอบครัวไทยเผชิญวิกฤต 3 ด้าน ได้แก่ วิกฤตโควิด-19 วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง รวมทั้งเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามยังระบุว่าประเด็นสุขภาพจิต การมีส่วนร่วมทางการเมือง การศึกษาและการเรียนรู้ เป็นประเด็นที่พวกเขาให้ความสำคัญและมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข


ดังนั้น ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว จึงจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและเยาวชน 3 ประเด็น คือ
1.การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเยาวชน
2.สวัสดิการเด็กและครอบครัวแบบรอบด้าน
3.การส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้-เล่นอย่างอิสระ

โดยพัฒนาข้อเสนอผ่านการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ การสำรวจความเห็น การพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการหารือและรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนสู่นโยบายระดับชาติ เริ่มต้นจากการพัฒนาความร่วมมือเชิงนโยบายกับกรุงเทพมหานคร



สำหรับเวทีกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาร่างข้อเสนอนโยบายให้มีความสมบูรณ์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือเพื่อผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติในระยะต่อไป

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร สภาเมืองคนรุ่นใหม่ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น