เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 66 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสัมมนาวิชาการเรื่อง “35 วัน หลังแผ่นดินไหวตุรกี ประเทศไทยพร้อมรับมือแผ่นดินไหวแล้วหรือยัง” ในหัวข้อ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ ข้อมูล มาตรการ แผนการ และความร่วมมือของกรุงเทพมหานครกับหลากหลายหน่วยงานในการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ณ ห้องประชุมกรมทรัพยากรธรณี ชั้น 1 อาคารเพชร กรมทรัพยากรธรณี เขตราชเทวี
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรุงเทพมหานคร สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บนตึกสูงนั้น กรุงเทพมหานครยินดีให้มีการติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนที่ตึกหรืออาคารต่าง ๆ ของกทม. เช่น โรงพยาบาลหรือโรงเรียนในสังกัดของกทม. ในส่วนของห้างสรรพสินค้าหรืออาคารของเอกชนสามารถขอความร่วมมือให้ติดตั้งได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากเครื่องที่ติดตั้งทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีการติดตั้งแล้วต้องคิดให้รอบด้านว่า ใครจะเป็นผู้ดูแลให้สามารถใช้งานได้ตลอด โดยในเบื้องต้นการสำรวจว่ากรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงอยู่ที่ใดบ้างนั้นใช้งบประมาณไม่มาก แต่หากเป็นการสำรวจอย่างละเอียด อาทิ ลงลึกถึงลักษณะกายภาพของพื้นดินที่มีความแตกต่างกัน และอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนแตกต่างกัน จำเป็นต้องมีเครือข่ายจุดวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในกทม.หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ประเด็นถัดมาคือ หากมีการติดตั้งเครื่องมือหรือเครือข่ายจุดวัดแล้ว ข้อมูลที่ได้ใครจะเป็นผู้นำไปใช้ รวมถึงกำกับข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และส่งต่อข้อมูล ประเด็นสำคัญคือ ในตอนนี้ แผ่นดินไหวตามตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากรอยเลื่อนหลัก รอยเลื่อนแขนง จะส่งผลมากน้อยแค่ไหนต่อการเคลื่อนไหวทางกายภาพของแผ่นดินกทม. เรายังไม่มีคำตอบตรงจุดนี้ ในขณะเดียวกันเราต้องการได้ข้อมูลที่แม่นยำเพื่อให้มีหลักการและเหตุผลที่หนักแน่นเพื่อสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้
หากถามว่าขณะนี้กทม. มีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือแผ่นดินไหว รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำ BKK Risk Map คือการกำหนดแผนที่จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงทุกรูปแบบ รวมถึงการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และการระวังภัยแบบเรียลไทม์ ในกรณีแผ่นดินไหวกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลทำแผนที่อาคารในกทม. ทั้งลักษณะ โครงสร้างและรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงทั้งก่อนและหลังเกิดแผ่นดินไหว รวมไปถึงภัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
รองผู้ว่าทวิดาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ ในการประกอบสร้าง BKK Risk Map ให้เสร็จสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ และสามารถรู้ความเสี่ยงของตนเองได้ กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องผสานทรัพยากรและข้อมูลจากหลากหลายฝ่าย หลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอความร่วมมือจากกรมทรัพยากรธรณีในด้านการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร การเปิดข้อมูลของกรมฯ เป็น Open source ในการเข้าถึงเพื่อรวมกับข้อมูลของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานวิจัยที่มีข้อมูลในการวิเคราะห์โครงสร้างอาคาร ตึก ถนน สะพาน และโครงสร้างประชากร รวมถึงข้อมูลจากนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องในด้านนี้ เช่น ข้อมูลความเปราะบางของพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงโมเดลที่คำนวณความเป็นไปได้ที่แรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ต่าง ๆ จะมีผลกระทบมาถึง ซึ่งกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชาวกทม.มากที่สุด
สำหรับการสัมมนาในวันนี้ จัดโดยกรมทรัพยากรธรณี วิทยากรผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ในหัวข้อ ธรณีแปรสัณฐานของตุรกีกับประเทศไทย ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว และรอยเลื่อนมีพลัง นายบุรินทร์ เวชบันเทิง อดีตรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ในหัวข้อ การดำเนินงานด้านแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย
ดร.ภูเวียง ประคำมินทร์ อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ในหัวข้อ โอกาสเกิดสึนามิในประเทศไทย
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ กลไกการขับเคลื่อนภารกิจด้านแผ่นดินไหว แผนแม่บทป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการอิสระด้านแผ่นดินไหว ในหัวข้อ เครือข่ายการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในหัวข้อ การแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิของประเทศไทย
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษา ทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี ผู้ดำเนินรายการ
งานสัมมนาในวันนี้ มีนายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรมทรัพยากรธรณี ทีม USAR THAILAND และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฟังการสัมมนา
#โครงสร้างดี #ปลอดภัยดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น