ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในกรุงเทพมหานคร ว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นพาหนะที่ราคาไม่สูง สะดวกรวดเร็ว จึงครอบคลุมผู้ใช้กลุ่มใหญ่ ทั้งใช้ในการเดินทางและการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะบางอาชีพที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ไรเดอร์ ทำให้ต้องใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงบนท้องถนนอย่างเลี่ยงไม่ได้ และพบว่ามีคนจำนวนมากที่ครอบครัวลำบากเพราะอุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน การเข้าสู่วงจรนี้ไม่ใช่เดือดร้อนแค่ตัวเอง แต่กระทบไปถึงครอบครัว และอาจมีผลกระทบไปทั้งชีวิต
จากสถิติรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนใน กทม. ปี 2565 มีจำนวนกว่า 4.1 ล้านคัน แต่มีรถจักรยานยนต์ที่ทำประกัน พ.ร.บ. เพียง 2.9 ล้านคัน (ข้อมูลวันที่ 31 ส.ค. 65) ขณะที่อุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ใน กทม. ปี 2565 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 68,659 ราย มีผู้เสียชีวิต 564 ราย คิดเป็น 89.46% ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมดเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุรถยนต์ (ข้อมูลวันที่ 8 ก.ย. 65)
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า สำหรับเงินค่าประกันภัย พ.ร.บ. นั้นไม่ได้แพง เพียงแค่ 3 ร้อยกว่าบาทต่อปี ซึ่งน้อยมาก พูดง่าย ๆ ว่าโครงการประกันวันละบาท การรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และพร้อมร่วมมือกับ คปภ. เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของโครงการฯ เพราะกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุดในประเทศ อีกทั้งโครงการนี้ยังสอดรับกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ในส่วนของด้าน ความปลอดภัยดี และเดินทางดี ทาง กทม. เองก็ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายนี้ไปแล้ว เช่น การมอบหมวกกันน็อคให้เด็ก ในส่วนของการทำประกันภัย พ.ร.บ. ก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะพ่วงไปกับการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์เช่นกัน
สำหรับงานวันนี้มี นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมงาน ปลอดภัยดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น