สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” รพ.จุฬาฯD - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2565

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” รพ.จุฬาฯD








เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการ สภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” โดยมี นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์ พยาบาล บุคลากร เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ ศ.นพ.ชวลิต เลิศบุษยานุกูล หัวหน้าสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ถวายรายงานความเป็นมาของการก่อสร้าง ในโอกาสนี้ ทรงทอดพระเนตรวีดิทัศน์เกี่ยวกับความเป็นมา การติดตั้งเครื่อง ตลอดจนการดำเนินงานและความก้าวหน้าของศูนย์ฯจากนั้นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ“ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” และเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ และการทำงานของเครื่องฉายอนุภาคโปรตอน

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยรังสีจากภายนอก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ด้วยเครื่องเอกซเรย์กิโลโวลต์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2533 ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยรังสีแกมม่าจากเครื่องโคบอลต์-60 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2533 ถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาสู่การรักษาด้วยรังสีเอกซ์พลังงานสูงและลำอิเล็กตรอนด้วยเครื่องเร่งอนุภาค และพัฒนาสู่เครื่องเร่งอนุภาคที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีเป้าหมายในการทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากโรค รวมถึงเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีเครื่องเร่งอนุภาคจำนวนทั้งสิ้น 6 เครื่อง สามารถให้บริการฉายรังสีให้แก่ผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 4,000 ราย



การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา นับเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันนวัตกรรมที่ให้ประสิทธิภาพสูงและเกิดผลข้างเคียงน้อย คือ การรักษาด้วยการใช้อนุภาคโปรตอน ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มเตรียมการให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และนับว่าเป็นบริการการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งยังได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ" อีกทั้งทรงให้การสนับสนุน และตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจรในประเทศไทย เพื่อยกระดับและพัฒนาด้านวิธีการรักษาโรคมะเร็งให้ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยที่สุดตามมาตรฐานระดับสากล

โดยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน ณ “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ”

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ได้เริ่มเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันรวมมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งสิ้นจำนวน 174 ราย ซึ่งจำแนกออกเป็นประเภทของกลุ่มโรค 3 อันดับแรก ที่มาเข้ามารับการักษา ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ และมะเร็งในสมอง โดยเป็นคนไทย 90% และชาวต่างชาติ 10%

การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน ทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบก้อนมะเร็งทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังจะได้รับปริมาณรังสีที่น้อย หรือแทบไม่โดนรังสี ผลกระทบจากรังสีในร่างกายจึงมีผลดีกว่ารูปแบบอื่น มีความเสี่ยงน้อย การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน แพทย์มักจะเลือกใช้รักษามะเร็งในส่วนที่ก้อนมะเร็งหรือเนื้องอกใกล้เคียงกับอวัยวะสำคัญ เช่น มะเร็งฐานกะโหลกศีรษะ มะเร็งบริเวณไซนัส หรือ มะเร็งตับ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทุกเพศ ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก เพราะรังสีที่อวัยวะปกติได้รับมากเกินไปจากการรักษา ย่อมมีผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็ก

ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นมิติใหม่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์ต้นแบบในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมอบการรักษาที่ดีที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุดให้แก่ผู้ป่วยทุกคน...
เมื่อได้เวลาอันสมควร เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น