ปลัด มท.ปลุก ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 79 ร่วมสร้างสังคมจิตอาสา - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565

ปลัด มท.ปลุก ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 79 ร่วมสร้างสังคมจิตอาสา

ปลัดมหาดไทยปลุกสร้างสังคมจิตอาสาทำดีด้วยหัวใจให้เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวเราในครัวเรือนเผื่อแผ่ไปยังสังคมรอบข้าง มุ่งฟื้นวัฒนธรรมดีงามในอดีตกลับคืนมาให้ได้ ต้องทำให้เกิดสังคมแห่งความรักสามัคคีส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป ย้ำหนักแน่นการเป็นราชการที่ดีต้องคลุกคลีไม่ห่างประชาชน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน เวลา 19.15 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษให้กับผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 79 ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ จิตอาสา นปส. หลักสูตร “ผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผ่านระบบ Zoom meeting โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมฟังการบรรยาย ที่ห้อง War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ได้ร่วมติดตามการนำเสนอของผู้เข้าฝึกอบรม ในแต่ละกลุ่มปฏิบัติการ (กป.) มาโดยตลอด ซึ่งน่ายินดีที่แต่ละ กป. ได้ร่วมกันคิด นำสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมไทยให้คืนกลับมา ซึ่งเป็นการสนองพระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดี ด้วยความรักความสามัคคี ความเสียสละและการช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งในการแก้ไขในสิ่งผิด มีนัยสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องจิตอาสา แต่หมายรวมทุกเรื่อง ซึ่งในอดีตสมัยที่รับราชการเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอวังเหนือ ประชาชนในพื้นที่สมัยนั้น จะมีความรัก ความสามัคคี มีความเสียสละ มีความใกล้ชิดซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจะมีการประชุมหารือร่วมกัน ในกิจกรรมส่วนรวม เป็นการทำด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับหรือเกณฑ์มาประชุม แต่ระยะหลังประมาณ 15 ปีมานี้ พบว่า กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเสียสละเพื่องานส่วนรวม มีน้อยลง ส่วนประชาชน บอกว่า ทางราชการลงพื้นที่ ทำความรู้จักคลุกคลีกับประชาชนน้อยลงเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่สมควรจะแก้ไข เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ราชการจะห่างจากประชาชน และประชาชนไม่ค่อยมีจิตสาธารณะในการดูแลหมู่บ้านชุมชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่แต่ละ กป.ได้ยกตัวอย่างการทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน เช่น การทำฝาย การสร้างบ้านให้คนยากจน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมีการกำหนดห้วงเวลาในการปฏิบัติ เช่นเดือนละครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ทุกคนเริ่มการเป็นจิตอาสา จากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มจากตัวเราสะสมไปเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้น จนเป็นกิจกรรมที่ทุกครัวเรือน ทุกโรงเรียนทำร่วมกันจนเป็นวัฒนธรรมจิตอาสา เช่น เดินไปมาในหมู่บ้าน ในชุมชนเจอขยะริมถนนช่วยกันเก็บ ให้สถานที่ต่าง ๆ มีความสะอาดสวยงาม ลูกหลานมีกริยามารยาทที่ดี มีการแบ่งหน้าที่การปลูกผักสวนครัวทำกับข้าวก็แบ่งปันให้บ้านข้างเคียง สิ่งเหล่านี้จะขยายผลไปยังชุมชนข้างเคียง สถานที่สาธารณะต่าง ๆ ที่ทุกคนช่วยกัน เกิดเป็นจิตอาสาที่ทุกคนทำได้ทุกวัน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า อยากให้ฝ่ายราชการใช้หลักการ “บวร” อันประกอบไปด้วย “บ้าน วัด ราชการ” ร่วมกับฝ่ายปกครองท้องที่/ท้องถิ่น วัด และชุมชน สร้างบรรยากาศของความรัก ความสามัคคี ให้กลับมา โดยทำเป็นลักษณะของงานประจำ (Routine) และอยากจะให้นายอำเภอมีกิจกรรมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ และมีงบประมาณที่จะสามารถรองรับภารกิจต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นจิตอาสา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีระเบียบ ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 (อถล.) หรือพปพร.และคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้สามารถสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรมและกระทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการวัดคุณภาพน้ำ การตรวจสารตกค้างในอาหาร การแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็นต้น หรือในเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ได้

รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ขอบคุณที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับจิตอาสา และได้เน้นย้ำว่า จิตอาสาต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อน ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า การพัฒนาต้องเริ่มจากการพัฒนาที่คน ด้วยชุดความรู้ที่มีความเหมาะสม และสามารถเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย แล้วจึงขับเคลื่อนขยายผลต่อไป

“จิตอาสาต้องเริ่มที่เราก่อน และตัวเราเองจะต้องเป็นจิตอาสาโดยพื้นฐานด้วย และขอให้สำรวจ ซึ่งในพื้นที่หรือองค์กรจะมีบริบทที่แตกต่างกันในการเชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นจิตอาสากับเรา หากสามารถนำแนวทางที่ กป. นำเสนอที่เป็นรูปธรรม ผนวกกับนามธรรมหรือทฤษฎีมาปฏิบัติได้ “จิตอาสา” จะกลายเป็นวัฒนธรรม เป็นจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม ซึ่งเราสามารถทำเต็มพื้นที่ได้พร้อมกัน และขอเป็นกำลังใจ ในการฟื้นวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีตกลับคืนมาให้ได้ ให้แก้ไขในสิ่งผิดให้สำเร็จ ให้เกิดเป็นสังคมแห่งความรัก สามัคคี ส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น