วธ.-จุฬาฯดึงคนรุ่นใหม่พัฒนาชุมชนยั่งยืน เผยแพร่ความรู้ผ่านกิจกรรมเสวนาวิชาการ เปิดตัว 30 ทีมผ่านรอบแรกประกวด“ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

วธ.-จุฬาฯดึงคนรุ่นใหม่พัฒนาชุมชนยั่งยืน เผยแพร่ความรู้ผ่านกิจกรรมเสวนาวิชาการ เปิดตัว 30 ทีมผ่านรอบแรกประกวด“ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม”


วธ.-จุฬาฯดึงคนรุ่นใหม่พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เผยแพร่ความรู้ผ่านกิจกรรมเสวนาวิชาการ เปิดตัว 30 ทีมผ่านรอบแรกประกวด“ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาพื้นที่ สร้างงาน-รายได้สู่ชุมชนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก


เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ“ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community)” และจัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” พร้อมเปิดตัวทีมผู้แข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบแรก 30 ทีม โดยมีดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายตรีเทพ ไทยคุรุพันธ์ กรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรมและผ่านทางระบบออนไลน์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนบนรากฐานการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชนบทอย่างบูรณาการ ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงมิติด้านวัฒนธรรม ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ สอดคล้องกับนโยบายของวธ.ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการส่งเสริมภาพลักษณ์และการรับรู้ถึงสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทย รวมถึงการส่งเสริมการส่งออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนในพื้นที่ที่เป็นผู้เข้าใจในวิถีความเป็นอยู่ 

รวมทั้งอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองได้ดีที่สุด ดังนั้น โครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” จึงสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ จัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ“ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม”ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักเรียน นิสิตและนักศึกษา ได้มีส่วนร่วมเสนอแนวคิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งโครงการฯเปิดรับสมัครนักเรียน นิสิตและนักศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปี เข้าร่วมกิจกรรม ทีมละไม่เกิน 3 คน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 มีผู้สมัครกว่า 190 ทีม และมีทีมผ่านการคัดเลือกรอบแรก 30 ทีม เพื่อเข้าร่วมทำกิจกรรมโครงการฯและนำเสนอนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่ม การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการฯมีกิจกรรม อาทิ การเสวนาทางวิชาการ การบรรยายพิเศษหัวข้อต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมไทย การสร้างแบรนด์ กิจกรรมการออกแบบแนวคิดริเริ่มและนวัตกรรมด้านชุมชนยั่งยืน


ทั้งนี้ จะมีพิธีปิดและมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคม 2565 ประกอบด้วยเกียรติบัตรและเงินรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศได้รับ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับ 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับ 10,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับรางวัลละ 5,000 บาท โดยผู้สนใจติดตามกิจกรรมโครงการฯได้ที่เฟซบุ๊กกระทรวงวัฒนธรรม เฟซบุ๊ก“เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของเรา” เฟซบุ๊กคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ cuengworkshop@gmail.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น