"อิทธิพล"เปิดนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า​ โดยสำนักศิลปากรที่ 2 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565

"อิทธิพล"เปิดนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า​ โดยสำนักศิลปากรที่ 2




นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นางสามารถ คำถนอม วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ผู้แทนหน่วยงานและประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา13:30 น.


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โดยก่อสร้างอาคารจัดแสดงหลังใหม่ บริเวณอาคารหลังแรก เพื่อจัดแสดงนิทรรศการถาวรขึ้นใหม่ เน้นเรื่องราวโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคตะวันตก แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกรมศิลปากร ในการพัฒนางานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ องค์กรภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างคุณูปการด้านวิชาการ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพสูง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อประเทศชาติ

กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564 ) ภายใต้แนวคิด “โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย” ก่อสร้างอาคารจัดแสดงหลังใหม่ เป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม สีดินเทศ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ออกแบบจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่ ทั้งส่วนเนื้อหาการจัดแสดง และการนำเสนอเรื่องราวให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3  ชั้น นำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญ การค้นพบเครื่องมือหิน 8 ชิ้น นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นทางการที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ข้อมูลหลักฐานและองค์ความรู้เกี่ยวกับคนบ้านเก่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการของผู้คนในลุ่มน้ำแควน้อย - แควใหญ่ ที่สืบเนื่องมาจากสมัยหินเก่า สู่สมัยหินใหม่ และบ้านเก่าในปัจจุบัน จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ เครื่องมือหิน 8  ชิ้น (จำลอง) เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา “หม้อสามขา” เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมบ้านเก่า โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โลงศพไม้ 


นอกจากนี้ ยังสามารถชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่โรงเรียนวัดท่าโป๊ะ บริเวณใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีการขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก และกรมศิลปากรยังมีการขุดค้นและดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ที่อยู่ใกล้กัน จะเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้แห่งสำคัญของจังหวัดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น