รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องให้การดูแล และที่พักพิงสำหรับชาวโรฮิงญาที่ติดค้างอยู่กลางทะเล...D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565

รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องให้การดูแล และที่พักพิงสำหรับชาวโรฮิงญาที่ติดค้างอยู่กลางทะเล...D

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า มีเรือขนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอย่างน้อยหนึ่งลำติดค้างอยู่กลางทะเล เรเชล ชัว โฮวาร์ด นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เจ็ดปีหลังเกิดวิกฤตทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้สูญเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวโรฮิงญายังคงเสี่ยงภัยในการเดินทาง เพื่อหลบหนีการประหัตประหารจากเมียนมาภายใต้ระบอบทหาร แม้จะเป็นบ้านเกิดของตน และหลบหนีจากสภาพชีวิตที่เลวร้ายในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

"กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องช่วยชีวิตหรือให้การช่วยเหลือบุคคลที่ประสบภัยอยู่กลางทะเล และนำตัวไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองชีวิตเหล่านี้ ความล่าช้าในการบรรเทาความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญาหรือความพยายามใดๆ ที่จะส่งตัวกลับไปเผชิญกับการประหัตประหารในเมียนมา ถือเป็นการกระทำที่ขาดมโนธรรมสำนึก"

“รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสานงานและร่วมมืออย่างเร่งด่วนในภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต โดยต้องพยายามค้นหาเรือที่ประสบภัย รวมถึงประกันว่าผู้ที่อยู่ในเรือจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย และได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เหมาะสม รวมทั้งน้ำและอาหาร”

ข้อมูลพื้นฐาน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) รายงานว่าจำนวนผู้ที่เดินทางอย่างเสี่ยงภัยโดยเรือจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศ ในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงหกเท่า โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตหรือสูญหายจำนวน 119 คน

ทางการในภูมิภาคนี้ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงการประสานงานในภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตบุคคลในเรือที่กำลังประสบภัย หลังเกิดการสูญเสียชีวิตจากความล่าช้าในการดำเนินการ

ในเดือนสิงหาคม 260 ชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก หลบหนีจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านหลังกองกำลังเมียนมาเปิดฉากโจมตีหมู่บ้านชาวโรฮิงญาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ที่รวมทั้งการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การทำลายทรัพย์สิน และการล่วงละเมิดทางเพศ

ชาวโรฮิงญากว่า 130,000 คนยังคงอาศัยอยู่ในค่ายกักกันในสภาพที่เลวร้ายในรัฐยะไข่ของเมียนมา พวกเขายังคงถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง การเข้าถึงการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกการปฎิบัติต่อชาวโรญิงญาเช่นนี้ว่าเป็นการแบ่งแยกสีผิวและชาติพันธุ์

กองทัพเมียนมามักควบคุมตัวชาวโรฮิงญาอย่างสม่ำเสมอและตามอำเภอใจจากการที่พวกเขาเดินทางออกนอกรัฐยะไข่ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำ โดยไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดี หรือไม่สามารถติดต่อทนายความได้ ในขณะที่สภาพในเรือนจำของเมียนมามีลักษณะที่ไร้มนุษยธรรม และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น