บังคับใช้ 9 ม.ค.66 เป็นต้นไป ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ ความผิดหลักตัดคะแนนทันทีที่ฝ่าฝืน ถ้าถูกตัดเหลือ 0 จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566

บังคับใช้ 9 ม.ค.66 เป็นต้นไป ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ ความผิดหลักตัดคะแนนทันทีที่ฝ่าฝืน ถ้าถูกตัดเหลือ 0 จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

โฆษก ตร.เผย เริ่มบังคับใช้วันนี้ ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ ความผิดหลักตัดคะแนนทันทีที่ฝ่าฝืน ส่วนความผิดอื่นๆ จะตัดเมื่อไม่ชำระค่าปรับ ถ้าถูกตัดเหลือ 0 จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566  เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึง การตัดคะแนนใบขับขี่ ที่มีผลบังคับใช้วันนี้ (9 ม.ค.2566) ว่า “ ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ กำหนดไว้ใน ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142/1 เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละคน จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที ได้แก่
- ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้าม ทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
- ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)
- ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถชนแล้วหนี
- ตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด

ส่วนกลุ่มความผิดอื่นๆ 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น

วิธีการตัดคะแนนนั้น จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง

โฆษก ตร. ย้ำว่า “เมื่อผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การตัดคะแนน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวินัยการขับขี่ จึงให้สิทธิผู้ที่ถูกตัดคะแนน สามารถขอคืนคะแนนได้ โดยการเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก กรณีที่คะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมได้ปีละ 2 ครั้ง ส่วนกรณีที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน และต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด 12 คะแนน ก็สามารถขอเข้ารับการอบรม ซึ่งคะแนนจะมีอายุความเพียง 1 ปี เมื่อครบ 1 ปีที่กระทำผิด ระบบจะคืนคะแนนให้โดยอัตโนมัติ
ประชาชนสามารถตรวจสอบคะแนนได้ 3 ช่องทาง 1) เว็บไซต์ E-Ticket PTM ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติ และตรวจสอบสถานะใบขับขี่

2) แอปพลิเคชัน ขับดี (KHUB DEE) ซึ่งพัฒนาโดย NT เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย

3) แอปพลิชัน เป๋าตัง ให้บริการชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์

ส่วนการชำระค่าปรับ ธนาคารกรุงไทย ได้พัฒนาระบบ เพิ่มช่องทางการรับชำระค่าปรับผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai NEXT” และ “เป๋าตัง” โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถชำระค่าปรับใบสั่งผ่านทางเว็บไซต์ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน (e-Ticket) https://ptm.police.go.th/ ด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต เป็นการยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประหยัดเวลาในการเดินทาง พร้อมบริการตรวจสอบแต้มจราจรผ่านระบบออนไลน์

โฆษก ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ความสูญเสียบนท้องถนนตามนโยบายรัฐบาล ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ เป็นหนึ่งในมาตรการเสริมในการสร้างวินัยการขับขี่เพิ่มเติมจากการออกใบสั่งเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่กระทำผิดซ้ำ สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล

โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งหมายให้ระบบบันทึกคะแนนดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างวินัยการขับขี่ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ป้องกันอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างยั่งยืน ต่อไป”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น