นายกฯ หารือ ประธานคณะกรรมการบริหาร UAI เห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิชาการ ยกระดับงานวิชาการในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่สำคัญ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

นายกฯ หารือ ประธานคณะกรรมการบริหาร UAI เห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิชาการ ยกระดับงานวิชาการในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่สำคัญ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 11.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เคล๊าส์ แฮร์เบิร์ส (Prof. Dr. Klaus Herbers) ประธานคณะกรรมการบริหารอินเตอร์แนชันนัล ยูเนียน ออฟ อะคาเดมีส์ (International Union of Academies : Union Académique Internationale : UAI) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแนะนำองค์กร และหารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางวิชาการกับไทยซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิก โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานคณะกรรมการบริหาร UAI และคณะในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งชื่นชม UAI ในฐานะองค์กรวิชาการระดับโลกที่เก่าแก่กว่า 100 ปี และมีบทบาทในการดำเนินความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและวิชาการของประเทศต่าง ๆ เพื่อยกระดับงานวิชาการในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของประเทศสมาชิก โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยในการดำเนินความร่วมมือกับ UAI อย่างใกล้ชิด ตลอดจนพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจาก UAI เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของไทย

ประธานคณะกรรมการบริหาร UAI ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งแนะนำคณะกรรมการ UAI โดยเชื่อว่าการหารือในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้พูดคุยและเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านสังคมของนายกรัฐมนตรีต่อประเทศไทย และในช่วงบ่ายทางคณะ UAI มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมเสวนาทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและปรัชญาตะวันออก (Joint Academic Meeting on Buddhism and Eastern Philosophy) ซึ่งก็จะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกันด้วย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางขยายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญขององค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านสังคมที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต และความอยู่ดีกินดีของประชาชน สอดคล้องตามนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลไทย ซึ่งต้องการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนและศักยภาพคน การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านประธานคณะกรรมการบริหาร UAI ชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์ให้ความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาทางวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง UAI จะได้เพิ่มพูนบทบาทและความร่วมมือทางวิชาการกับไทยอย่างใกล้ชิดด้วยแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งครอบคลุมการวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกใบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมประชาชน ให้สามารถอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้ได้ และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งประธานคณะกรรมการบริหาร UAI ชื่นชมในมุมมองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับที่ UAI ผลักดันและถือเป็นพื้นฐานสำคัญของหลายองค์กรในตะวันตก ทั้งในด้านความแตกต่างหลากหลายในสังคม และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย UAI พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีมอบหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนในการเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงน้ำชาแก่ประธานคณะกรรมการบริหาร UAI และคณะ ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น