นายกฯ เปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 ผลักดันการขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand สู่วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

นายกฯ เปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 ผลักดันการขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand สู่วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 (Thailand Safe@Work 2022) รณรงค์ส่งเสริมความตระหนักรู้และปลุกจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand อันจะนำไปสู่วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดีโดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัย จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2565 2) กิจกรรมพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ประจำปี 2565 และ 3) กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบกิจการตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2565 ระดับแพลทตินัม รวม 72 รางวัล จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับสถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจนี้ กล่าวได้ว่าความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรในองค์กรทุกคนทุกระดับ ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเป็นหูเป็นตาดูแลซึ่งกันและกันจนบรรลุผลสัมฤทธิ์ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานกองทุนทดแทน พบว่า สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราการประสบอันตรายเมื่อเทียบกับจำนวนลูกจ้างต่อ 1 พันคน มีแนวโน้มที่จะลดลงตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสภาพของการทำงานโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักร ลูกจ้างจะต้องมีสติ มีกฎกติกา มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน มีการควบคุมดูแลซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือความร่วมมือของคนในองค์กรที่พร้อมใจกันควบคุมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการของตน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการ ตาม Roadmap ที่วางไว้ โดยมีประเด็นสำคัญด้านแรงงานที่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค ซึ่งได้เร่งแก้ไขและคลี่คลายปัญหาไปได้หลายเรื่อง ทั้งการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานเพื่อนบ้าน การทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการขาดแคลนแรงงานบางประเภท สำหรับนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น ในการจะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ต้องอาศัยฟันเฟืองสำคัญที่สุดคือแรงงานทุกคน เปรียบเสมือนกลไกที่สำคัญที่สุด โดยการยกระดับแรงงานให้มีความพร้อม สร้างระบบการเรียนรู้ ฝึกให้มีคุณภาพ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ที่จะดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมให้มีความมั่นคงปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไม่เฉพาะแต่สุขภาพ แต่รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของโลก บทเรียนที่ผ่านมาจึงเป็นบทเรียนสำคัญให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง พี่น้องผู้ใช้แรงงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้ปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น นำมาประยุกต์ใช้ในการควบคุม ป้องกัน และประยุกต์เป็นค่านิยมในการสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน 3 ประการ M-D-C ในการสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน คือ การมีสติรู้ตัว วินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนทุกแห่ง ในการปรับตัวเองให้ทันกับวิถีชีวิตการทำงานแบบใหม่ โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม จนอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมให้แรงงานยังคงได้ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม ปลอดจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานในทุกสภาพการณ์ ถ้าทุกองค์กรสามารถสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนทำงานได้อย่างยั่งยืน ก็เท่ากับว่าเรามั่นใจได้ว่าอย่างน้อยประชากรครึ่งประเทศจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สามารถดูแลตนเองและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้

สำหรับนโยบาย “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” เป็น มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 เห็นชอบเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ระยะที่ 2 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2565 เพื่อรณรงค์ส่งเสริมความตระหนักรู้และปลุกจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงานพร้อมขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบาย “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น