กกต. สรุปผลเลือกตั้งรายพรรค 'ก้าวไกล' อันดับหนึ่ง 151 เก้าอี้ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

กกต. สรุปผลเลือกตั้งรายพรรค 'ก้าวไกล' อันดับหนึ่ง 151 เก้าอี้


เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566  เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. พร้อมด้วย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวสรุปภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั่วประเทศ พร้อมขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ร่วมออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566

นายอิทธิพร กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 52,238,594 คน คิดเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ 75.22% ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ กกต.เคยจัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง โดยในปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 74.87% ทั้งนี้ การที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงถือเป็นตัวเลขที่น่ายินดี สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปี 2562 มีหลายประเด็น และได้รับการแก้ไขและไม่เกิดขึ้นอีก ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แต่การรายงานผลล่าช้าไปมากจากที่ประเมินไว้ว่าจะจบที่ 22.00-23.00 น. เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้เกิดความถูกต้องเพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลที่แชร์สู่สารธารณะถูกต้องที่สุด ตนขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ร่วมกันจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อมูล ณ เวลา 09.00 น. ดังนี้ ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด คือ พรรคก้าวไกล 112 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ 112 ที่นั่ง ภูมิใจไทยได้ 68 ที่นั่ง พลังประชารัฐได้ 39 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติ 23 ที่นั่งประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 9 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง เพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง ชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง

ส่วนแบบบัญชีรายชื่อ มีพรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ไปทั้งหมด 17 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกลได้ 39 ที่นั่ง เพื่อไทยได้ 29 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติได้ 13 ที่นั่ง ภูมิใจไทย ได้ 3 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ 3 ที่นั่ง ประชาชาติ 2 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง เสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 1 ที่นั่ง ประชาธิปไตยใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง ท้องถิ่นไทย 1 ที่นั่ง พรรคเป็นธรรม 1 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง พลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง ครูไทยเพื่อประชาชน 1 ที่นั่ง

นายอิทธิพร กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาในมุมมองของกกต.เห็นว่าเป็นไปโดยเรียบร้อย แต่จังหวัดนครปฐม ที่ต้องปิดประกาศงดการลงคะแนน 1 หน่วย คือหน่วยที่ 10 หมู่ที่ 8 ตำบลบางแขม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ถูกพายุฝนทำให้เต็นท์ล้มเสียหายไม่สามารถดำเนินการลงคะแนนเลือกตั้งได้ ส่วนรายงานการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอื่นๆ พบว่า มีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุราในช่วงที่กฎหมายห้าม 7 ราย ถ่ายรูปบัตรที่เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย ในส่วนของคำร้องเรียนจนถึงเวลา 09.00 น วันที่ 15 พ.ค. ทั้งสิ้น 168 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ 18 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ เช่นกันฝ่าฝืนถึงกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในหลายๆ มาตรา ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปี 2562 คำร้องเรียนมีทั้งหมด 592 เรื่อง ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง พยายามปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงหวังว่าตัวเลขการร้องเรียนจะไม่สูงขึ้นกว่า ปี 2562 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สามารถแจ้งเหตุไม่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 พ.ค.ที่ สถานีอำเภอหรือแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น Smart Vote

พร้อมระบุว่า กระบวนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนั้น ตามกฎหมาย กำหนดให้ กกต.ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 5 วันนี้ จะมีการตรวจสอบความถูกต้อง และจากนั้นจะตรวจสอบว่าผู้ได้รับการเลือกตั้ง มีข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา โดยทั้งหมดต้องใช้เวลาภายในกรอบ 60 วัน ซึ่งการพิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดงนั้นกฎหมายกำหนดว่า ก่อนการประกาศผล กกต. มีอำนาจให้เฉพาะใบส้ม หรือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว แต่ถ้าหลังการประกาศผลแล้ว การให้ใบแดง คือการเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง หรือใบดำ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่า กกต.เห็นว่าผู้กระทำผิดนั้นต้องรับโทษอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดจะต้องเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการประชุมกรณีที่ กปน. ดึงบัตรเลือกตั้งขาด ให้กับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตห้วยขวาง นั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้เหตุที่เกิดในหน่วยเลือกตั้ง เป็นอำนาจกรรมการประจำหน่วยในการวินิจฉัย ซึ่งที่ประชุมกกต.เมื่อวานพิจารณา และทราบข้อมูลว่าหลังเกิดเหตุ กรรมการประจำหน่วยมีการประชุม เห็นว่าไม่ได้เกิดจากการเจตนาจงใจ จึงมีมติให้เป็นบัตรที่สามารถใช้ลงคะแนนได้ จึงจ่ายให้กับมาใช้สิทธิได้นำไปลงคะแนน แต่ผู้ใช้สิทธิกังวลว่า จะกลายเป็นบัตรเสียหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต. เห็นว่า เมื่อกปน.ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง และอำนาจวินิจฉัยเป็นของกรรมการประจำหน่วย ก็ต้องถือว่ากปน.ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องแล้ว

เมื่อถามถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีถูกร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อ จะมีผลต่อการพิจารณาประกอบการรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ หรือต้องใช้ระยะเวลาในการประกาศรับรองผลมากน้อยแค่ไหน นายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคมีการเซ็นรับรองให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งด้วย นายอิทธิพร กล่าวว่า เมื่อเป็นคำร้องที่ยื่นเข้ามาแล้วก็เสมอหนึ่งว่า กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เหมือนกับกระบวนการศาล การจะพูดว่ามีผลหรือไม่มีผล อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับคนที่จะเป็นผู้พิจารณา ดังนั้น ที่แน่ๆ ตอนนี้มีคำร้องแล้ว ก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ หากเป็นไปตามระเบียบ กรรมการจะรับคำร้อง และสืบสวนไต่สวน ให้ผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งมีขั้นตอนตามลำดับ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแล้วเสร็จ เลขาธิการ กกต. ให้ความเห็น คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนก็จะกลั่นกรองก่อนว่า คำร้องนั้นมีการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ก่อนจะเสนอ กกต. ซึ่งทุกคำร้องก็ปฏิบัติเช่นนี้ ดังนั้นต้องใช้เวลา และถ้าถึงเวลาก็จะประกาศให้ทราบว่าเป็นอย่างไร

ส่วนที่มีการร้องเรียนว่าเขตบางพลัดไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง ดูการนับคะแนน แล้วมีการนับคะแนนในห้องลับตา นายอิทธิพร กล่าวว่า ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ใช่เรื่องการนับคะแนน แต่เป็นการนำวัสดุอุปกรณ์มาส่งที่เขตตามขั้นตอนปกติ แต่มีประชาชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องจัดระเบียบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยืนยันว่าไม่ได้มีการนับคะแนนที่เขตบางพลัด เนื่องจากเขตบางพลัดไม่ใช่เขตหลักของการเลือกตั้งที่ 33 จึงถึงต้องรวมนับที่ศูนย์รวมการนับคะแนนที่เขตบางกอกน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจในเบื้องต้นแล้วว่า เป็นกระบวนการปฏิบัติที่ทำเช่นนี้ทุกหน่วยการเลือกตั้ง

ด้านนายแสวง กล่าวถึงกรณีการประท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ที่เขตลาดกระบัง เนื่องจากผู้สมัครได้คะแนนใกล้เคียงกันนั้น เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า น่าจะมีลักษณะเช่นนี้อีกจำนวนมาก แต่การจะคัดค้านว่าการนับคะแนนไม่ชอบนั้น ต้องทักท้วงระหว่างที่กกรมการนับคะแนน อ่าน ขาน ขีด ไม่ใช่เห็นว่าเกิน เพราะการเกิน 1 คะแนนไม่ได้มีผลต่อความถูกต้อง ให้ต้องนับคะแนนใหม่ แต่ต้องมีการคัดค้าน และนำเรื่องมาร้องภายหลังการเลือกตั้ง จึงไม่อยากให้ไปมองแค่ว่าคะแนนมากน้อยเท่าไหร่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น