ส.ก.เรียกร้องกทม.เร่งแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน...G - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566

ส.ก.เรียกร้องกทม.เร่งแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน...G

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.65 นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสวนหลวง ได้ยื่นญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากประชาชนจำนวนมากร้องเรียนความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่จุดเสี่ยงอันตรายในกรุงเทพมหานคร อาทิ บริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์ ไฟฟ้าส่องสว่างดับขัดข้อง ที่นั่งชำรุดทำให้ประชาชนต้องยืนรอรถโดยสาร สร้างความลำบากให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทางม้าลายหลายแห่งสีไม่ชัดเจน บางพื้นที่มีการซ่อมปรับปรุงผิวถนน แต่หลังจากดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการทาสีทางม้าลายกลับคืนสภาพเดิม แสงไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอและไม่มีสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม ประชาชนที่ข้ามถนนอาจไม่ปลอดภัย


ดังนั้น เห็นว่า กรุงเทพมหานครควรมีแผนงานการทาสีทางม้าลายเป็นประจำและตรวจสอบให้อยู่ในสภาพดี อีกทั้งบริเวณหน้าชุมชนและโรงเรียนไม่มีป้ายเตือนเพื่อให้รถชะลอความเร็วหรือระมัดระวังในการขับขี่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ขับบนทางเท้า หรือผู้ที่นำสิ่งใด ๆ มาตั้งวางกีดขวางทางเท้า ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ควรมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดภัย

ส.ก.เขตสวนหลวง กล่าวในที่ประชุมว่า หากจะสรุปปัญหาความไม่ปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถสรุปได้ 4 ปัญหาหลัก คือ
1.ปัญหาไฟฟ้าสาธารณะไม่ส่องสว่างหรือส่องสว่างแต่ไม่เพียงพอทั้งถนนเส้นหลัก ตรอก ซอกซอย ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน จึงอยากทราบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแล
2.จุดเสี่ยงบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารในพื้นที่กทม.ที่มีมากกว่า 2,000 แห่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ในส่วนของศาลาที่เป็นไปตามมาตรฐาน บางแห่งไฟดับและอยู่ห่างไกลจากบ้านพักอาศัย หรือห้างร้าน เป็นจุดอับและเปลี่ยว และศาลารอรถแบบที่เป็นเต็นท์ชั่วคราว ซึ่งอาจตั้งขึ้นเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ พบว่าไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ไม่มีที่นั่งรอ ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาวิ่งราว จึงขอสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการปรับศาลาแบบเต็นท์ชั่วคราวให้เป็นแบบมาตรฐาน รวมถึงติดตั้งไฟฟ้าให้ส่องสว่างทั่วถึงได้หรือไม่
3.ทางม้าลาย สีซีดจาง ไม่ชัดเจน บางจุดมีการปรับปรุงผิวถนน หลังดำเนินการไม่มีการตีเส้นทางม้าลายเนื่องจากอยู่ในความรับผิดชอบคนละหน่วยงาน จึงขอให้ฝ่ายบริหารกำชับหน่วยงานให้ดำเนินการให้ครบถ้วนเรียบร้อย
4. ถนนในเขตชุมชนหรือโรงเรียน บางแห่งไม่มีป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งจุดเสี่ยงเหล่านี้พบเห็นมาหลายปีแล้ว จึงขอให้ฝ่ายบริหารได้เร่งติดตั้งป้ายดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนให้ครอบคลุม ทั่วถึง และสามารถมองเห็นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

จากนั้นส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายในเรื่องความไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นปัญหาหลักในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

นายสุรจิตต์ พงษสิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ปัญหาในกรุงเทพมหานครมีมากมาย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 50 เขต ได้แก่ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งการซ่อมแซมแต่ละครั้งขั้นตอนเป็นไปด้วยความยุ่งยาก เมื่อแจ้งการไฟฟ้าได้รับการตอบกลับมาว่าต้องได้รับการอนุมัติจากกทม.ก่อน และหลายพื้นที่ในเขตลาดกระบังไฟฟ้าดับมากกว่า 3 เดือน อีกปัญหาคือคุณภาพหลอดไฟไม่ได้มาตรฐาน หลายพื้นที่แจ้งว่า ไฟฟ้าดับซ้ำซ้อนในหลายพื้นที่ อาทิ ถนนฉลองกรุง ถนนหลวงแพ่ง ถนนร่มเกล้า 25 ถนนเจ้าคุณทหาร ถนนเคหะร่มเกล้า และถนนพัฒนาชนบท 3 จึงขอให้ฝ่ายบริหารได้เร่งแก้ไขเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนเร่ร่อน ซึ่งกทม.ไม่มีกฎหมายในการจับและบังคับ จึงขอให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย

นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา กล่าวว่า ในพื้นที่ถนนสุขุมวิทและทองหล่อพบว่ามีเสาไฟสีเขียวตั้งอยู่ตามถนนมากมาย ในอดีตเสาไฟเหล่านี้อาจมีความสวยงาม แต่ปัจจุบันพบว่าดวงไฟดับหลายจุด และไม่พบว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ปัจจุบันย่านวัฒนา ทองหล่อ ถือว่ามีความเจริญ มีประชาชนอาศัยจำนวนมาก เป็นแหล่งสัญจรสำคัญของนักท่องเที่ยว

“จากการสำรวจพื้นที่ซอยสุขุมวิท 1-23 ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร พบว่ามีเสาไฟสีเขียวรวมทั้ง 2 ฝั่ง จำนวน 51 ต้น ถนนซอยทองหล่อ 10 ถึงคลองแสนแสบ ระยะทาง 2 กิโลเมตร มีเสาไฟสีเขียว 117 ต้น จากเสาไฟสีเขียวรวมทั้งหมด 168 ต้น มีดวงไฟส่องสว่างไม่เกิน 7 ดวง ถนนสุขุมวิททุกวันนี้ชาวต่างชาติเดินผ่านไปมาทั้งกลางวันกลางคืนเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เขตเร่งแก้ไขปัญหาในจุดที่เป็นหน้าเป็นตาของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ปัญหาเรื่องของเต็นท์เทศกิจที่ตั้งอยู่บนทางเท้าถนนสุขุมวิทก็พบว่ากีดขวางการจราจร อาจแก้ไขโดยใช้รถของเจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นรถโมบายเพื่อตรวจตราความปลอดภัยในพื้นที่หมุนเวียนไปในจุดต่าง ๆ และจะได้ใช้ในการตรวจตราจุดที่ไฟฟ้ามีปัญหาด้วย ทั้งนี้เขตวัฒนาเป็นเขตชั้นใน และพบว่ามีการเสียภาษีเป็นอันดับต้น ๆ ของกทม. แต่ปัญหาร้องเรียนเรื่องไฟฟ้ายังมีอย่างต่อเนื่อง จึงขอเสนอแนะให้เขตทำงานเชิงรุก ออกสำรวจพื้นที่แทนการรอเรื่องร้องเรียน รวมถึงตั้งงบประมาณให้เหมาะสม และเร่งรัดดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้ปลอดภัยอย่างครบถ้วน” ส.ก.เขตวัฒนา กล่าว

นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก กล่าวว่า เขตบางรักก็เป็นพื้นที่เขตชั้นในที่มีการร้องเรียนปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างทุกวัน และมีเสาไฟสีเขียวจำนวนมากเช่นกัน สำหรับการสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่เขตพบว่าจะมีในบริเวณไซต์ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ มีปัญหาโครงสร้างของบ้านเรือน ปัญหาเสียง ฝุ่น หรือแม้กระทั่งคุณภาพของน้ำ ซึ่งการจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ใช่การก่อสร้างคอนโดมิเนียม อาคารคอมมูนิตี้มอลล์ หรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมานานกว่า 50-60 ปี ด้วย การทำ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment หรือ EIA ทุกอย่างดูเรียบร้อยแต่ระหว่างการก่อสร้างกลับมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะปัญหาบริเวณไซต์งานถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่สูงมากแห่งหนึ่ง มีปัญหาปูนซีเมนต์ตกลงมาซึ่งโครงการรับผิดชอบด้วยการดูแลความเสียหายให้ แต่ก็ยังมีปัญหาเหล็กเส้น อุปกรณ์ก่อสร้าง และเศษหินตกลงมา และปัญหาอื่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดพื้นผิวฟุตบาท ทำให้ประชาชนต้องลงไปเดินในผิวถนนจราจรแทน ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าว หลายเขตมีปัญหาเรื่องป้ายรอรถโดยสารประจำทางเช่นเดียวกัน ทั้งปัญหาของเต็นท์ชั่วคราว ไฟฟ้าส่องสว่างและป้ายที่ไม่มีหลังคากันแดดกันฝน สำหรับจุดเสี่ยงในพื้นที่เขตยานนาวา สรุปได้ดังนี้
จุดที่ 1 สะพานข้ามแยกถนน และถนนพระราม 3 เป็นจุดที่มีการเปิดฝาท่อทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุหลายครั้ง และมีประชาชนประสบอุบัติเหตุแต่ยังไม่ได้รับการดูแลจากผู้เกี่ยวข้อง
จุดที่ 2 ทางเดินสันเขื่อน/คลอง ซึ่งคลองหลายแห่งที่เชื่อมถนนสายรอง เมื่อสำนักการโยธาปรับปรุงสันเขื่อน/คลอง ไม่มีการติดตั้งไฟฟ้า ทำให้ประชาชนที่ต้องสัญจรในช่วงเวลากลางคืนไม่มีความปลอดภัย จึงขอให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ก.ได้ทำหนังสือไปยังสำนักการโยธาและสำนักการจราจรและขนส่งเพื่อสอบถามแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงและการก่อสร้างตลอดมา ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และที่ล่าช้า ได้แก่ การซ่อมแซมเสาไฟฟ้าต้นใหญ่ ต้นเล็ก การขาดความพร้อมในการบูรณาการข้อมูลระหว่างกทม.และการไฟฟ้า รวมถึงพบว่าการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนตามระบบ Traffy Fondue ไม่มีประสิทธิภาพ

ด้านนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า นโยบายความปลอดภัยดีของผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของแสงสว่าง โดยกำหนดให้กรุงเทพฯต้องสว่าง แต่ยังคงพบปัญหาดวงไฟที่หน่วยงานแก้ไขแล้วสามารถใช้งานได้เป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับสำนักการโยธาและการไฟฟ้านครหลวงพบว่ามีข้อตกลงร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานเกี่ยวกับการดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟ ซึ่งต้องใช้งบประมาณของกทม.ในการจัดซื้อหลอดไฟ และปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีการจัดซื้อหลอดไฟที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้หลอดไฟที่นำมาเปลี่ยนไม่สามารถใช้ได้ในระยะเวลานาน อย่างไรก็ดี ขอชมเชยนโยบายการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED ของผู้ว่าฯ เป็นเรื่องที่ประชาชนชื่นชมมาก หากสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเขตจะเป็นเรื่องที่ดี

นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา กล่าวว่า หมู่บ้านลาซาลนิเวศ ในพื้นที่เขตบางนา ซึ่งมีประชาชนกว่า 20 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างตั้งแต่ปี 64 โครงสร้างของบ้านเสียหายและผู้รับเหมาซึ่งรับผิดชอบโครงการได้แสดงความรับผิดชอบบางส่วน และบางส่วนมีความเสียหายมากจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จึงขอเชิญผู้ว่าฯไปร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีชุมชนอื่นที่ได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นละอองจากรถเทรลเลอร์ที่วิ่งผ่านตลอดทั้งวัน อดีตมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ขณะนี้มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การแก้ไขของเขตคือฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่นซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เรื่องของไฟฟ้าส่องสว่างเป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯให้ความสำคัญตลอดมา ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการเปลี่ยนหลอดไฟ 25,000 ดวง เซ็นสัญญาจ้างแล้ว 5,000 ดวง และจะทยอยเปลี่ยนในถนนสายหลัก สำหรับ 20,000 ดวงจะกระจายลงใน 50 เขต แบ่งเป็นเขตละ 400 ดวง อย่างไรก็ตามให้เขตสำรวจเพิ่มเติมในถนนสายรอง เพื่อที่ฝ่ายบริหารจะได้พิจารณาจัดสรรงบกลางเพื่อซ่อมแซมให้ครบถ้วน

รองผู้ว่าฯ กล่าวตอบประเด็นคำถามของส.ก.ในตอนท้ายว่า “เรื่องความรับผิดชอบการดูแลไฟฟ้า ก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 การไฟฟ้านครหลวงได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกับกทม.คือทำก่อนจ่ายทีหลัง แต่หลังจากที่มีพรบ.ฉบับนี้ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อีก การไฟฟ้าต้องสำรวจเพื่อประเมินราคาและออกแบบก่อน จากนั้นเขตถึงจะจัดซื้อจัดจ้างได้ สำหรับการแจ้งปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue ซึ่งเขตสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อแก้ไขเองได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ให้ส่งเรื่องมาที่สำนักการโยธาเพื่อดำเนินการให้ ในเรื่องของค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะเป็นความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงดูแล เรื่องของศาลาพักผู้โดยสาร ขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่งอยู่ระหว่างการออกแบบศาลา โดยแบ่งเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ทางเท้าที่มี และจะทยอยเข้าดำเนินการปรับปรุงต่อไป”




ยให้ประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น