ปลัดแรงงานมอบ"อธิบดีบุปผา" ลงพื้นที่ชมอุบลโมเดล ปั้นเด็ก ม.3 ที่ไม่เรียนต่อ สู่แรงงานมืออาชีพ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ปลัดแรงงานมอบ"อธิบดีบุปผา" ลงพื้นที่ชมอุบลโมเดล ปั้นเด็ก ม.3 ที่ไม่เรียนต่อ สู่แรงงานมืออาชีพ


เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่อุบลราชธานี เปิดฝึกอบรมและเยี่ยมชมการฝึกด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3 เพิ่มทักษะ สร้างอาชีพติดตัว มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยมีนางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พลตรีอัครพนธ์ มูลประดับ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ผู้บริหารของสถานประกอบกิจการและหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัด พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี


นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แต่ไม่ได้ศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ยังไม่มีทักษะฝีมือในการทำงาน เมื่อไม่ได้เรียนต่อจึงมุ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานกลายเป็น “แรงงานไร้ฝีมือ” ส่งผลทำให้ตลาดแรงงานมีแรงงานที่ขาดทักษะ ไม่ได้มาตรฐานในการทำงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ ดูแล สนับสนุนในเรื่องตำแหน่งงาน และส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่นักเรียน โดยจัดโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อ หลังจบการศึกษาภาคบังคับ เป็นการบูรณาการร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นปีที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากฝึกอบรมจบหลักสูตรแล้ว จะช่วยให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการฝึกอบรมไปแล้วกว่า 3,000 คน และในปี 66 นี้มีเป้าหมายฝึกอบรมให้กับนักเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ และอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 1,520 คนทั่วประเทศ และได้จัดเตรียมหลักสูตรเพื่อรองรับสาขาอาชีพต่าง ๆ ไว้มากมาย จึงได้มอบหมายให้นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการฝึกของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี


นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ มีโอกาสเยี่ยมชมการฝึกภายใต้โครงการดังกล่าว พร้อมให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรม จากรายงานพบว่าในปี 66 สพร.7 อุบลราชธานี ได้รับเป้าหมายให้ฝึกอบรมจำนวน 200 คน ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว รุ่นที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2566 จำนวน 54 คน และครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 จำนวน 155 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 209 คน เปิดฝึกทั้งหมด 13 หลักสูตร อาทิ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างสีรถยนต์ และช่างควบคุมเครื่องกัดและเครื่องกลึง CNC ทั้งหมดเป็นหลักสูตรที่ตลาดแรงงานมีความต้องการจ้างงานทั้งสิ้น



นางสาวบุปผา กล่าวต่ออีกว่า สพร. 7 อุบลราชธานี ดำเนินงานภายใต้ UBISD Model ได้จับมือกับสถานประกอบกิจการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัด ในการจัดหาตำแหน่งงานรองรับผู้ผ่านการฝึกอบรม และได้รับจ้างงานในอัตราที่เหมาะสม อีกทั้งได้ร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการพัฒนาฝีมือกลุ่มช่างสีและตัวถังรถยนต์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ดำเนินการฝึกหลักสูตร ช่างสีและตัวถังรถยนต์ ระยะเวลาการฝึก 120 ชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาในสถานศึกษาภาครัฐและเอกชนที่เปิดระดับ ปวช. และ ปวส. มุ่งเน้นให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษามีงานทำ ฝึกจบแล้วบริษัทรับเข้าทำงานทันที ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการฝึกจาก สพร.7 อุบลราชธานี มีงานทำไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ระหว่างฝึกอบรมมีที่พักให้อยู่ฟรี และมีเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารอีกด้วย



"การฝึกอบรมตามแบบของอุบลโมเดลนี้ จะใช้เป็นต้นแบบให้กับหน่วยฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ โดยย้ำกับทุกจังหวัด ให้สำรวจความต้องการจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาตำแหน่งงานและทักษะที่ต้องการจ้างแรงงาน เพื่อจัดฝึกอบรมในสาขาที่มีตำแหน่งงานรองรับหรือต่อยอดการประกอบอาชีพอิสระได้ จึงขอเชิญชวนน้อง ๆ ที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แต่ไม่ได้ศึกษาต่อ และอายุไม่เกิน 25 ปี ที่สนใจ สามารถสมัครเข้าอบรมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 ” นางสาวบุปผา กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น