รอง ผบ.ตร. เผย ปีใหม่ 2566 อุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลงตามเป้าหมาย บังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลักกว่า 500,000 ราย จับกุมเมาแล้วขับ 22,439 คดี พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2566

รอง ผบ.ตร. เผย ปีใหม่ 2566 อุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลงตามเป้าหมาย บังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลักกว่า 500,000 ราย จับกุมเมาแล้วขับ 22,439 คดี พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 65 เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.รอย  อิงคไพโรจน์  รอง ผบ.ตร. ในฐานะ   ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ตร. , พล.ต.ท.ธนา  ชูวงศ์  ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ประจวบ  วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ  จิรวีระ รอง จตช. แถลงผลการดำเนินการในการอำนวยการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุ และการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน เทศกาลปีใหม่ 2566 พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ตร. พล.ต.อ.รอย เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ                    ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชน และเน้นบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ผ่านมานั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.65 เป็นต้นมาจนถึงวันสุดท้ายคือ  5 ม.ค.66 ซึ่งทุกวันจะมีการติดตามสถานการณ์การจราจร และการปฏิบัติของแต่ละหน่วย ผ่านระบบ VDO Conference  โดยมี  พล.ต.อ.รอยฯ รอง ผบ.ตร. และ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบงานจราจร เป็นผู้กำกับดูแลในแต่ละวัน และให้หน่วยระดับ บช., ภ.จว. และทุกสถานีตำรวจเฝ้าฟัง ทั้งนี้เพื่อลดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยผลการดำเนินการในแต่ละด้าน มีดังนี้ 

1. การอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร  จัดกำลังตำรวจกว่า 50,000 นาย ดูแลการจราจรตลอด  7 วัน มีปริมาณรถ เข้า-ออกจาก กทม. รวมจำนวน 7,199,251 คัน ออกจาก กทม. จำนวน 3,428,939 คัน และเข้า กทม. จำนวน 3,770,312 คัน วันที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. มากที่สุด คือวันที่ 29 ธ.ค.65 วันที่ประชาชนเดินทางเข้า กทม. มากที่สุด คือวันที่ 3 ม.ค.66 มีการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) จำนวนทั้งสิ้น 117 ครั้ง (ระบายรถขาออก 51 ครั้ง /  ขาเข้า 66 ครั้ง) 

รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ขออนุญาตเดินรถในช่วงเวลาห้าม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 23,587 คัน อนุญาตให้เดินรถได้ 23,007 คัน  (รถที่ได้รับอนุญาตมากที่สุด คือ รถบรรทุกน้ำมันหรือแก๊ส (ร้อยละ 47.43) รองลงมา คือ รถบรรทุกอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค (ร้อยละ 44.80) ) ไม่อนุญาตจำนวน 580 คัน  และพบผู้ฝ่าฝืนเดินรถในเวลาห้าม จำนวน 228 ราย เนื่องจากเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด       2. การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน            ทั่วประเทศ มีจำนวนจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร  2,142  จุดตรวจ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,629 จุดตรวจ พบผู้ที่   ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 518,367 ราย  เป็น ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 22,439 ราย (มากกว่าค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง คิดเป็น 21.31 %) ขับรถเร็วเกินกำหนด 199,640  ราย/ไม่สวมหมวกนิรภัย 102,864 ราย/ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 28,747 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีเมาแล้วขับ เป็นการนำผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ซึ่งมีโอกาสก่ออุบัติเหตุออกจากท้องถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้จำนวน 22,439 คน  

3. การป้องกันและลดอุบัติเหตุ รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้ จำนวนครั้ง การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 5 % เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2563-2565)  ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุลดลงตามเป้าในทุกด้าน 

-การเกิดอุบัติเหตุ 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2566 เกิดจำนวน 2,440 ครั้ง  ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง (3,153 ครั้ง) เป็นจำนวน -713 ครั้ง  (ลดลง -22.61 %) 

- จำนวนผู้เสียชีวิต 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2566 มีจำนวน 317 ราย  ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง (366 ราย) เป็นจำนวน -49  ราย (ลดลง -13.39 %) 

- จำนวนผู้บาดเจ็บ 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2566 มีจำนวน 2,437 คน  ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง(3,165 คน) เป็นจำนวน -728 คน (ลดลง 23.00 %) 

ทั้ง 3 สถิติถือว่าลดลงมากกว่า 5% สำเร็จตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

ทั้งนี้ บช. ที่ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก  ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 3 ,4, และ ภาค 2

บช. ที่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่  ตำรวจภูธรภาค 9 ,3 , ลำดับที่สามเท่ากัน คือ บช.น. และ ภาค 6 

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต  มีจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ สุโขทัย พังงา สตูล และ นราธิวาส  

4. สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ( 37.50%) ดื่มแล้วขับ (25.49%) และตัดหน้ากระชั้นชิด (18.69%)   ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ รถจักรยานยนต์ (82.11%) รถกระบะ (5.56%)  และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล(3.24%)    สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากที่สุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย (59.19 %) และดื่มแล้วขับ (20.41%)    

พล.ต.อ.รอย กล่าวอีกว่า การอำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เทศกาลปีใหม่ 2566 ตร. นั้น เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ตำรวจอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ ลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ ได้สั่งการให้ ทุกกองบัญชาการสรุปข้อมูลและถอดบทเรียน ปัญหาการปฏิบัติโดยเฉพาะวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ทุกมิติ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุและอำนวยการจราจรในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 2566 ต่อไป 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น