สรพ. ชื่นชมจุดแข็งของรพ.สต.บ้านทุ่งงิ้ว ที่ตอบโจทย์หลักสำคัญของการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ...S - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567

สรพ. ชื่นชมจุดแข็งของรพ.สต.บ้านทุ่งงิ้ว ที่ตอบโจทย์หลักสำคัญของการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ...S


สรพ. ชื่นชมจุดแข็งของรพ.สต.บ้านทุ่งงิ้ว ที่มีระบบการทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ผู้นำมีวิสัยทัศน์ เข้าใจคนทำงาน เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี มีการทำงานที่สามารถตอบโจทย์หลักสำคัญของการรับรองมาตรฐานระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ


ดร.บรรจง จำปา รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)หรือสรพ. กล่าวว่าการดำเนินงานตามภารกิจของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สิ่งสำคัญนอกจากรับรองโรงพยาบาลแล้ว เราจะรับรองมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่าย เป็นการรับรองระบบระดับอำเภอ อย่างเช่นการดำเนินงานที่มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของเป็นแม่ข่าย มีรพ.สต.เป็นลูกข่าย มีการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สังคม ชุมชน พื้นที่ในการวางแผนระบบดูแลผู้ป่วย โดยหลักการสำคัญของระบบสุขภาพระดับอำเภอ คือ ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล แต่เราจะมีการเชื่อมโยงกันระหว่างโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการเชื่อมโยงไปถึงบ้านของผู้ป่วย สังคม ชุมชน เพราะเรื่องการดูแลสุขภาพไม่สามารถยืนเดี่ยวได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นหลักคิดสำคัญของการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ



ทั้งนี้หลักสำคัญของการรับรองมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอมี 6 ประการ คือ 1.การบริหารจัดการเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของสังคมชุมชนในพื้นที่ เป็นการมีส่วนร่วมในระดับอำเภอ และประสิทธิภาพก็รวมความถึงหน่วยงานที่อยู่ในสังคมชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นหน่วยที่มีผู้แทนของทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล ก็เป็นองคาพยพหนึ่ง หรือ สังคมท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นคำว่าประสิทธิภาพของการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมจึงเป็นปัจจัยแรกในระบบสุขภาพระดับอำเภอ 2. เสริมพลังคนทำงาน (Empowerment) การเสริมพลังทำให้บุคลากรมีพลังในการดูแลคนไข้ เช่น การสร้างพลังให้กับบุคลากรในรพ.สต. การสร้างพลังให้บุคลากร care giver เราสามารถเสริมพลัง เสริมความรู้ ให้กลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถไปดูแลคนไข้ที่บ้านได้ ให้ญาติผู้ป่วยสามารถดูแลคนไข้ได้ ไม่เป็นภาระสังคม 3.การมุ่งเน้นมิติของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทำอย่างไรให้คนไม่ป่วย เมื่อป่วยแล้วต้องมีการฟื้นฟูสภาพ 4.ระบบการดูแลที่ไร้รอยต่อ คือมีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือ ชุมชน เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้าน วัด ชุมชน หรือ การเชื่อมโยงผ่านระบบข้อมูล 5.กระบวนการดูแลที่เป็นองค์รวม เน้นคนเป็นศูนย์กลาง เป็นกระบวนการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้ป่วยแต่ละคนมีความต้องการการดูแลที่ต่างกัน จึงต้องมีสหสาขาวิชาชีพร่วมกันดูแลด้วย 6.ระบบสนับสนุนบริการสำคัญที่รัดกุมในเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของเป็นหน่วยสนับสนุนสำคัญในเรื่องกลไก สิ่งที่เรารับรองคือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของในฐานะที่มาทำระบบสนับสนุนให้กับรพ.สต. ทำหน้าที่สนับสนุนองค์ความรู้ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ บุคลากร ระบบสนับสนุนจึงเป็นส่วนสำคัญที่เรามารับรองกัน




“ ขอชื่นชมจุดแข็งของรพ.สต.ทุ่งงิ้วในด้านมาตรฐานการทำงาน ที่สามารถตอบโจทย์หลักสำคัญของการรับรองมาตรฐานระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ ที่เห็นได้ชัดคือ 1.การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจคนทำงาน เข้าใจบริบทในพื้นที่ สามารถนำบริบทในเรื่องของสุขภาพมาวางแผนดูแลในพื้นที่ได้ การทำงานที่เน้นเรื่องสังคมชุมชน สามารถเชื่อมโยงบ้าน วัด โรงเรียน ได้เป็นอย่างดี 2. ยุทธศาสตร์ของรพ.สต. เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาล มีความเชื่อมโยงด้านระบบส่งต่อ เครื่องมือ ระบบจัดการฐานข้อมูล ที่สำคัญ ผอ.รพ.สต.มาดูแลด้วยตัวเองทำให้เข้าใจระบบทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพแม้จะมีเพียงแค่ 4 คน แต่ก็สามารถมีระบบจัดการที่ดีได้ 3.การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้ง อสม. ผู้สูงอายุในชุมชน ที่ช่วยกันดูแลสุขภาพป้องกันโรคและภัยสุขภาพได้เป็นอย่างดี”ดร.บรรจงกล่าว

ด้านนายวิทิต แซ่ราจา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งงิ้วกล่าวว่ากระบวนการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งงิ้วจะมีการทำงานที่เชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ กับชุมชน มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันคือ รพ.สต. เจ้าหน้าที่ พยาบาล ผู้อำนวยการ มีอาสาสมัคร care giver ลงมาเป็นพี่เลี้ยงให้การดูแลและเยี่ยมบ้านผู้ป่วย อย่างเช่น กรณีผู้ป่วยรายนี้เกิดอาการสโตรก( stroke ) มีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ภายหลังการรักษาได้ส่งต่อผู้ป่วยกลับบ้านเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูในชุมชนโดยญาติ ด้วยกระบวนการส่งต่อ คืนข้อมูลมาจากโรงพยาบาลเชียงของ





โดยทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งงิ้วจะมีระบบความเชื่อมโยงมีการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ มาที่หน่วยบริการสุขภาพ รพ.สต. และข้อมูลจาก รพ.สต.ลงสู่ชุมชน ซึ่งชุมชนจะมีผู้นำโดยอาสาสมัครหมู่บ้านที่มีองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงโรงพยาบาลและหน่วยพยาบาลที่ดี เราจะไปดูข้อมูลผู้ป่วยว่ามีอาการเช่นไร ผู้ที่ทำการรักษาอยากให้ทำอะไรต่อเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น พอได้ข้อมูลมาพยาบาลที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบก็จะมาทำแผนในการดูแลผู้ป่วย หลังจากทำแผนแล้วจะมีการประสานว่าผู้ป่วยจะอยู่ในความรับผิดชอบของอาสาสมัครท่านใด มีปัญหาอะไรที่ต้องมีการช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดกลับมาเป็นปกติให้ได้มากที่สุด เรามีทั้งแพทย์และนักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของที่มาเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้มาสอนในสิ่งที่จะต้องสอนให้กับญาติผู้ป่วย ในการดูแลผู้ป่วย มีcare giver ซึ่งจะลงมาดูแลเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นความร่วมมือที่ทำร่วมกันทำจริงๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยรายนี้ติดบ้านมา 2 ปี ครึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เดินไม่ได้เลย แต่ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยสามารถเดินได้แล้วโดยมีญาติคอยพยุงอยู่ห่างๆ ผู้ป่วยค่อนข้างจะดีขึ้นมากๆ เพราะรายนี้ไม่มีแผลกดทับและไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นเพิ่ม เรามีการดูแลต่อเนื่องและคิดว่าจะดีขึ้นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น