“วราวุธ" รมว.พม. ให้กำลังใจ ผู้ปฏิบัติงานต่อต้านค้ามนุษย์ แนะ รู้ทันเทคโนโลยี-โลกไซเบอร์ ใต้แนวคิด Together We Can "Stop Cyber - Trafficking" - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“วราวุธ" รมว.พม. ให้กำลังใจ ผู้ปฏิบัติงานต่อต้านค้ามนุษย์ แนะ รู้ทันเทคโนโลยี-โลกไซเบอร์ ใต้แนวคิด Together We Can "Stop Cyber - Trafficking"



เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนนทบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด Together We Can "Stop Cyber - Trafficking" โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน พร้อมทั้งเป็นประธานพิธีมอบรางวัลดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวม 29 รางวัล ได้แก่ 1 ) บุคคลต้นแบบ 2) จังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) 3) หน่วยงานดีเด่น และ 4) บุคคลดีเด่น โดยมี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ประจำประเทศไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมในงาน และผ่านทางระบบออนไลน์ (Online)



นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงอันตรายของการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เทคโนโลยีและสังคม อาทิ อาชกรรมทางไซเบอร์ (Cyber Scam) โดยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) และการดำเนินงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างบูรณาการและเป็นหุ้นส่วน (Partnership) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งมีผลการดำเนินงานสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้


1) การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายแบบเชิงรุก ด้วยการขยายผลการจับกุมไปยังผู้ซื้อบริการทางเพศ เพื่อเป็นการตัดวงจรการค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นเด็กและเยาวชน การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
2) การป้องกันการค้ามนุษย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ การพัฒนาแนวทางในการป้องกัน การแสวงประโยชน์จากแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว และการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย
3) การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายเป็นไปตามหลักการสากล การให้บริการที่เป็นมิตรกับผู้เสียหาย (Victim – Friendly Approach) โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย โดยเฉพาะเด็ก (Best Interest Determination) และให้ความสำคัญกับการดูแลที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย (Trauma-Informed Care) โดยใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติเป็นแนวทางสำคัญ ในการขับเคลื่อนตั้งแต่กระบวนการสัมภาษณ์คัดกรอง คัดแยก และคุ้มครองผู้เสียหายทั้งภายในและภายนอกสถานคุ้มครอง ไปจนถึงการส่งกลับคืนสู่สังคมและประเทศต้นทางอย่างยั่งยืน


นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังของประเทศไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และให้ความสำคัญกับการผนึกกำลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยให้หมดสิ้นไป กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Together We Can "Stop Cyber - Trafficking" เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าการค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์เป็นภัยใกล้ตัว ทุกคนมีโอกาสถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงผ่านออนไลน์ และอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังต่อต้านการค้ามนุษย์



งานครั้งนี้ มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1) การมอบรางวัลให้แก่บุคคลต้นแบบ บุคคลดีเด่น หน่วยงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ประจำปี 2567 จำนวน 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 29 รางวัล แบ่งเป็น 1) บุคคลต้นแบบ จำนวน 3 รางวัล 2) บุคคลดีเด่น จำนวน 15 รางวัล 3) หน่วยงานดีเด่น จำนวน 6 รางวัล และ 4) จังหวัดต้นแบบขับเคสื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ จำนวน 5 รางวัล และยังมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของประเทศไทย (3P) ประกอบด้วย ด้านการดำเนินคดี การป้องกัน และการคุ้มครอง นิทรรศการผลงานของผู้รับรางวัล 29 รางวัล บูธการแสดงผลงานของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ ภาครัฐ NGO และองค์การระหว่างประเทศ และบูธการแสดงผลิตภัณฑ์จากฝีมือของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์


นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณผู้แทนจากสถานทูต ผู้แทนองค์กรเอกชน และมูลนิธิต่างๆ สำหรับการมาร่วมกันในงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของประเทศไทยที่ทุกองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ได้ร่วมมือกันในการป้องกันและต่อต้านปัญหาการค้ามนุษย์ ที่นับวันนั้นจะมีเทคนิคใหม่ๆ ผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตามให้ทันถึงเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้น ในที่สุดการทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี หรือ TIP Report ที่จะส่งให้สหรัฐอเมริกาในทุกๆ ปี จะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ส่วนราชการ และองค์กรต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยของเรานั้นอยู่ในสถานะที่เรียกว่าไม่ตกลงไปต่ำกว่าระดับเดิม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในแต่ละปีเราจะได้เห็นถึงความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนสามารถดำเนินงานด้วยกันภายใต้การที่เราอยากจะเห็นในภูมิภาคอาเซียนของเรานั้นหลุด Tier 2 เพื่อที่จะขึ้นไป Tier 1 ซึ่งต้องขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกๆ คน



นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ประสานงานกับทุกหน่วยงานทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สหวิชาชีพ รวมทั้งกฎหมาย เราผลักดันทางด้านกฏหมายในหลายมิติไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอีกหลายประเด็นในการที่จะทำให้กฎหมายมีความทันสมัยขึ้น ในส่วนของข้อมูลนั้น หลักใหญ่จะเป็นการดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ การคุ้มครองสิทธิของเด็กตามสนธิสัญญานานาชาติ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) รวมถึงการประสานงานด้านการส่งผู้ได้รับความเสียหายกลับไปยังประเทศต้นทาง หรือส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ตนคิดว่าเวลาผ่านไป มิจฉาชีพจะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ควบคู่กันไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพี่น้องประชาชนนั้นได้เข้าใจถึงกลไก เทคนิค รวมทั้งกลโกงต่างๆ ที่เหล่ามิจฉาชีพทั้งหลายจะนำมาใช้ ซึ่งการที่จะขึ้นเป็น Tier 1 นั้น ต้องประสานงานกับหลายหน่วยงาน#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ #5มิถุนายน #TogetherWeCanSTOPCyberTrafficking

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น