ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เยี่ยมชม “Second Harvest Japan” องค์กร Food Bank แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เยี่ยมชม “Second Harvest Japan” องค์กร Food Bank แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น


เมื่อวันที่ 17 พ.ค.67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เยี่ยมชม “Second Harvest Japan” องค์กร Food Bank แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้พบกับ CEO อีกด้วย

สำหรับ “Second Harvest Japan” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2002 มีภารกิจหลัก คือการจับคู่อาหารปลอดภัยและเครื่องบริโภคต่างๆ กับผู้ต้องการ ภายใต้หลักคิด เปลี่ยน “mottainai” (ขยะ) ให้กลายเป็น “arigatou” (คำขอบคุณ) โดยแบ่งเป็น 3 โมเดล ได้แก่

1. “Food Bank” เป็นเสมือนคลังสินค้าที่องค์กรจัดตั้งขึ้นมา เพื่อรวบรวมและจัดเก็บของที่ได้รับบริจาคมาจากบริษัทหรือประชาชน ทุกวันธรรมดาจะมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมแพ็กบริจาคของใส่กล่อง ซึ่งเมื่อแพ็กแล้วกล่องเหล่านี้จะถูกกระจายไปตามเครือข่ายองค์กรต่างๆ อาทิ บ้านเด็กกำพร้า ศูนย์คนพิการ สถานสงเคราะห์ ผู้มีรายได้น้อย และบรรดาคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น ที่มีหน้าที่ส่งของต่อให้สู่กลุ่มเป้าหมาย (โมเดล B2B)

2. “Food Pantry” เป็นพื้นที่สำหรับจัดวางของบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนในรูปแบบของมินิมาร์ท และเปิดให้ผู้มีความต้องการเข้ามารับของได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (โมเดล B2C) ทางองค์กรเป็นผู้ดำเนินการ Food Pantry 1 แห่ง ชื่อ Marugohan รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ตั้ง Food Pantry ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมดมากกว่า 200 แห่งทั่วเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเดินทางไปเยี่ยมชมจุดดังกล่าว

3. “Harvest Kitchen” เป็นจุดจัดเตรียมอาหารและเสบียงสำหรับการส่งต่อ โดยทุกวันเสาร์จะมีกิจกรรมเตรียมอาหารให้กับผู้ไร้บ้านที่สวน Ueno

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งทาง CEO ว่าเมื่อมีโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย จะเชิญมาดู Food Bank ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้ริเริ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมถึงเป็นการหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับ Second Harvest ต่อไปในอนาคต

ในการนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมการประชุม G-NETS Mayors Summit ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชุมระดับนายกเทศมนตรีของเมือง เพื่อการหารือและแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเมืองและวิสัยทัศน์สำหรับการพัฒนาในอนาคต และการร่วมกันเผยแพร่แถลงการณ์ประกอบการจัดตั้งเครือข่ายเมืองระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Global City Network for Sustainability: G-NETS) อย่างเป็นทางการ สำหรับหัวข้อในการประชุม แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. สิ่งแวดล้อม (Environment) 2. เมืองที่ปลอดภัยและมั่นคง (Safe and Secure Cities) 3. เมืองที่ครอบคลุมและเที่ยงธรรม (Inclusive and Just) โดยมีผู้แทนในระดับนายกเทศมนตรีจากเมืองทั่วโลกประมาณ 44 เมือง ร่วมประชุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น