พม. นำเครือข่าย ปล่อยขบวนสามล้อรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” หยุดฉวยโอกาส - คุกคามทางเพศ ฯ ...S - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567

พม. นำเครือข่าย ปล่อยขบวนสามล้อรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” หยุดฉวยโอกาส - คุกคามทางเพศ ฯ ...S



เมื่อวันที่  3 เม.ย. 67 เวลา 10.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานปล่อยขบวนสามล้อประชาสัมพันธ์การรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” บริเวณหน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งสร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ ให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกายความยินยอมพร้อมใจของผู้อื่น ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ จากนั้น เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทย เคารพสิทธิ” ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. 


โดยมี นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมคณะผู้บริหาร นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางชวาลี โอสถานุเคราะห์ นายกสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยฯ ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา กรรมาธิการสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ MS. Alia El-Yassir Regional Director UN Women Regional Office for Asia and the Pacific เข้าร่วมงาน


นายอนุกูล กล่าวว่า ตามที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจึงได้เสนอหลักการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ซึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 21 เมษายน 2567 ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว และเป็นที่ทราบกันว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และมักจะมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่างๆ ตามมา รวมถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ ดังนั้น กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และจะได้ขยายแนวคิดสงกรานต์ปลอดภัย เรื่องการเคารพสิทธิ การคุกคามทางเพศให้ขยายไป โดยมี พม.จังหวัดทั่วประเทศ เป็นตัวช่วยขยายผลในระดับพื้นที่ 


เพราะฉะนั้น งานวันนี้จึงเป็นการรณรงค์ให้สังคมไทยลุกขึ้นมาดูแลสิทธิซึ่งกันและกัน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมประเพณีสงกรานต์จำนวนมาก ซึ่งเรื่องของการให้เกียรติ ความเท่าเทียม เป็นเป้าหมายที่ 5 ที่กระทรวง พม. รับผิดชอบ เป็นเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นเรื่องที่เราต้องการทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าเรื่องนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวง พม. ให้ความสำคัญกับครอบครัวในระดับพื้นที่ เช่น วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว ซึ่งจะมีการทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ในลักษณะกิจกรรมวันครอบครัว และในวันที่ 5 เมษายน 2567 จะมีการจัดงานวันผู้สูงอายุและวันครอบครัวขึ้น เพื่อให้กลไกสังคมไทยเห็นความสำคัญของวันผู้สูงอายุและวันครอบครัว


นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในช่วงสงกรานต์ปี 2566 พบปัญหาส่วนใหญ่คือ ถูกประแป้งที่ใบหน้าหรือร่างกาย ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมองทำให้อึดอัด เคยถูกฉวยโอกาสลวนลาม เกิดอุบัติเหตุ ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทะเลาะกันในครอบครัว ดังนั้น ช่วงสงกรานต์ปี 2567 ทาง สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง มีสติ มีขอบเขตและการเคารพสิทธิ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ากว่า 60 แห่ง โดยขอฝากทุกคนว่า “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการทำลายสมอง


ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 4,011 คน ต่อเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2567 พบว่า กลุ่มที่เคยเล่นสงกราน์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า ร้อยละ 57.79 ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม ร้อยละ 32.43 และเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุด ร้อยละ 76.77 โดยพฤติกรรมการฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลามที่พบมากที่สุด คือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด ร้อยละ 61.45 และกลุ่มตัวอย่าง “รับรู้” ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือว่าเป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา ร้อยละ 92.10 และเมื่อถามว่า ปี 2567 สิ่งที่กังวลหรือห่วงใยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ ภัยอันตราย/อุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 85.06 การดื่มสุรา/น้ำกระท่อมทำให้ขาดสติ แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท ร้อยละ 40.22 และการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 34.13


ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ให้ระมัดระวังตนเองขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจน และมีความรุนแรงมากขึ้น กับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เพิ่มเจ้าหน้าที่คอยดูแลและควบคุมสถานการณ์ตามจุดต่าง ๆ อย่างเข้มงวดและทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงให้ภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแล และรณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น และจัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี


ดร.สุวรรณา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนกีฬา อยากจะเป็นหนึ่งกระบอกเสียงในการที่จะช่วยกันรณรงค์ และอยากให้ช่วยกันดูแลกลุ่มนักกีฬา โดยหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า พวกเราเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ อาจมีบ้างที่แบบว่านักกีฬาอาจจะยังไม่กล้าเปล่งเสียงตัวเองออกมา อย่างเคสที่เกิดขึ้นในสมาคมยิมนาสติกของสหรัฐอเมริกา ที่มีคุณหมอท่านหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศนักกีฬาจำนวนกว่า 10 คน ท้ายที่สุดแล้วนักกีฬา ได้รวมตัวกันกว่า 10 ปี เพื่อเรียกร้องสิทธิ ซึ่งใช้เวลานานมาก เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่กล้า นักกีฬาเองใช้เวลาฝึกสอนอยู่ทุกวัน และผู้ฝึกสอนอาจจะเป็นผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศ ถามว่าใครจะกล้าบอก ซึ่งการที่ไม่กล้าบอกคือ อาย และอาจจะส่งผลต่ออาชีพนักกีฬา แต่ขอเป็นกระบอกเสียงตรงนี้ว่า พวกเราพร้อมร่วมกับกระทรวง พม. รวมถึงกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ช่วยกันขับเคลื่อน และพร้อมที่จะช่วยนักกีฬาไทยทุกคนที่ประสบปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเราจะขอเพิ่มโครงการเซฟสปอร์ตเป็นครั้งแรก อยากจะช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิสตรีและเยาวชนของไทย#ช่วย24ชั่วโมง #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #เทศกาลสงกรานต์ #สงกรานต์ปลอดภัยสังคมไทยเคารพสิทธิ #ไม่ใช้ความรุนแรงทุกทาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น