พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์...K - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์...K


เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ พุทธศักราช 2567 ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร กับทรงกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และปราสาทพระเทพบิดร พระบรมมหาราชวัง



เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ส่วนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงวางพุ่มดอกไม้ส่วนพระองค์ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองทิศ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ และส่งเสด็จ





จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และปราสาทพระเทพบิดร พระบรมมหาราชวัง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปที่ฐานชุกชี ทรงวางกระทงดอกไม้บนพานหน้าฐานชุกชี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง แล้วทรงจุดเทียนห่วงบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศที่หน้าธรรมาสน์ศิลา จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ ไปยังปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยาราชาวดี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยารอง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เสร็จแล้ว เสด็จออกจากปราสาทพระเทพบิดร ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ




วันเดียวกันนี้ เวลา 15.00 น. นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีถวายบังคมปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ฯ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร

สำหรับวันจักรี หรือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเนื่องมาจากวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามเดิม “ทองด้วง” เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี ซึ่งมีนามเดิมว่า หลวงพินิจอักษร (ทองดี) และพระราชมารดา “หยก”) ทรงพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกใน พ.ศ. 2319

เมื่อถึง พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ ในปี พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในราชการ ได้แก่ สงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2328 การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ชำระกฎหมายบทต่าง ๆ ให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามและพระพุทธรูปต่าง ๆ เป็นอันมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น