พม.จังหวัดตรัง เร่งสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ ชวนกดแจ้งเหตุผ่าน แอดไลน์ @esshelpme - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567

พม.จังหวัดตรัง เร่งสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ ชวนกดแจ้งเหตุผ่าน แอดไลน์ @esshelpme


เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดโครงการ "เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567" โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมถึงบุคคลใกล้ชิด ครู/อาจารย์ และครอบครัวตระหนักรู้เรื่องภัยจากการค้ามนุษย์เรียนรู้รูปแบบการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ที่เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ รู้จักช่องทางการแจ้งเบาะแสและการแจ้งเหตุ เพื่อขอรับความช่วยเหลือ สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ และร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่ ทั้งชุมชนและสถานศึกษา ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดงาน โดยมี นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย เด็กและเยาวชนผู้ซึ่งเป็นกรรมการนักเรียนหรือผู้นำนักเรียน หรือสภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดตรัง ผู้ปกครองและครูในพื้นที่จังหวัดตรัง วิทยากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 70 คน ณ ห้องภัชรี โรงแรมวัฒนาพาร์ค อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง


นายทรงกลด กล่าวว่า การค้ามนุษย์ ถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ของประเทศไทย และเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นการกระทำที่ลิดรอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ อีกทั้งเป็นต้นเหตุ นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่นปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ปัญหาการค้าประเวณี และปัญหาต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น


นายทรงกลด  กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันขบวนการค้ามนุษย์มีการปรับรูปแบบ วิธีการ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social medias หรือ Social Network) ในยุคดิจิทัล นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้สำหรับชีวิตประจำวันของคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การประกอบธุรกิจ การศึกษา ตลอดจนเป็นแหล่งของความบันเทิง เช่น Facebook Line Twitter Google Instagram YouTube รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการสนทนาหรือการหาเพื่อนใหม่ เช่น  Facebook Dating Azar เป็นต้น 



โดยเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัว ประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ไปยังเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลอื่นๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันกลับแฝงไปด้วยภัยคุกคามที่เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งมีโอกาสเข้าถึงตลอดเวลาและบางครั้งไม่ทันได้ตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกชักจูงหรือถูกล่อลวงด้วยความไม่รู้เท่าทันภัยอันตรายจากการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ที่เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ จึงดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ด้วยการเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยอันตราย และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ตามหลักปฏิบัติมาตรฐานสากล



ทางด้าน นางสาวโสพิญฐ์ ได้กล่าวรายงานเป็นข้อมูลที่น่าสนใจว่าข้อมูลจำนวนสถิติผู้เสียหายที่เป็นเด็ก และเยาวชน (ช่วงอายุแรกเกิดถึง 18 ปี) ซึ่งระบบฐานข้อมูลของประเทศไทยด้านการดำเนินคดี และการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ELECTRONIC DATABASE SYSTEM FOR ANTI-HUMAN TRAFFICKING OF THAILAND (E-AHT) พบว่าในห้วงปีงบประมาณ พ.ศ.2564 -2566  มีเด็กและเยาวชนเป็นผู้เสียหาย รวมทั้งสิ้นจำนวน 723 คน โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่ถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี ผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น ประกอบกับรายงานข้อมูลสถิติผู้เสียหายคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (ช่วงอายุแรกเกิดถึง 18  ปี และอายุมากกว่า 18  ปี) จากศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต Thailand Internet Crimes Against Children (TICAC) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในห้วงปี พ.ศ. 2559-2566 มีผู้เสียหาย รวมทั้งสิ้น จำนวน 988 คน โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงอายุ 8-14  ปี จึงกำหนดจัดโครงการ "เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่" ขึ้นในวันนี้




ทั้งนี้ นอกจากมีการบรรยายให้ความรู้ในโครงการดังกล่าวแล้ว   ทาง พม.จังหวัดตรัง ยังเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนแอดไลน์ ESS  ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารที่สำคัญ เพราะเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคมที่สามารถใช้ส่งสัญญาณขอความช่งยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างรวดเร็ว หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA  ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยแก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme  หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น