สำหรับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมโดยเฉพาะ “รถไฟทางคู่” นับเป็นนโยบายสำคัญรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง จากถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า โดยปรับปรุงพัฒนาโครงข่าย “รถไฟทางเดี่ยว” ให้เป็น “รถไฟทางคู่” เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง รองรับจำนวนผู้โดยสาร และปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนการเดินทางของประชาชน พร้อมเชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ “โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย” โครงการเมกะโปรเจกต์ที่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต หากดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสะพานเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจและเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน โดยมีเป้าหมายในการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวม 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายเหนือ สายตะวันออก สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้
โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ มีแผนการดําเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบรางระดับชาติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรสำคัญเพื่อการเตรียมความพร้อมให้กับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการลงทุนหลักของประเทศ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมเดินหน้าก้าวเป็นผู้นำระบบรางและศูนย์กลางการเดินทางของประเทศ และเร่งผลักดันประเทศไทยให้มีโครงข่ายระบบรางที่ทันสมัยและดีที่สุดในอาเซียน ในปี 2570 เพื่อโอกาสของการเชื่อมโยงการเดินทาง การยกระดับเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ในอนาคต
คลิกอ่าน E-Book ได้ที่นี่ http://ebookservicepro.com/showcase/2022/StateRailway2570/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น