ไทยเปิดด่าน แม่สอดรับแรงงานเมียนมากลุ่มแรก เข้ามาทำงานตาม MOU - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ไทยเปิดด่าน แม่สอดรับแรงงานเมียนมากลุ่มแรก เข้ามาทำงานตาม MOU


กระทรวงแรงงาน พร้อมให้แรงงานข้ามชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยตาม MOU โดยไม่ต้องกักตัว ลดค่าใช้จ่ายนายจ้าง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายอรเทพ อินทรสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และนายภัทรวุธ เภอแสละ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการนำแรงงานสัญชาติเมียนมากลุ่มแรกเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ผ่านด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยนายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้แรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 287 คน ได้เดินทางผ่านเส้นทางย่างกุ้ง-เมียวดี-แม่สอด เพื่อเข้ามาทำงานตาม MoU โดยแรงงานเมียนมากลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่เข้ามาทำงานหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยวันพรุ่งนี้ (11 พ.ค. 65) จะมีแรงงานสัญชาติเมียนมากลุ่มที่ 2 จำนวน 301 คน เดินทางตามเข้ามาทางด่านเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 588 ราย โดยหากฉีดวัคซีนครบโดส หรือหากฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง สามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ให้เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5 วัน

“รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ประเมินสถานการณ์การระบาดในประเทศ พบว่าเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงปรับมาตรการครั้งสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาแข็งแรงมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศดังก่อนเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ซึ่งกระทรวงแรงงานเองได้เตรียมความพร้อมวางแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมาตรการที่รัฐบาลกำหนด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติของนายจ้าง สถานประกอบการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ให้ปฏิบัติตามแนวทางการปรับลด
มาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ดังนี้
1. มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
1). ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานใน
ราชอาณาจักร
(Name List)
2). หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด – 19
3). กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ
4). กรณีรับวัคซีนครบโดสนายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า และกรณีรับวัคซีนไม่ครบโดส และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง แจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในประเทศ หลักฐานการยืนยันว่ามีสถานที่กักตัว (อย่างน้อย 5 วัน)
2. มาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องกักตัว สามารถรับการตรวจเอกสารหลักฐาน ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากไม่พบเชื้อโควิด – 19 แรงงาน 3 สัญชาติจะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับฯ รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย 

กรณีพบเชื้อโควิด – 19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป

กรณีแรงงานข้ามชาติที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเข้ามาจะต้องกักตัวอย่างน้อย 5 วัน หากครบกำหนดให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส

ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรณีที่ตรวจพบเชื้อให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่า​ยทั้งหมด 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น