นายกฯ หารือ JBIC ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงสามสนามบินในพื้นที่ EEC พร้อมหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 เวลา 15.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Governor of Japan’s Bank of International Cooperation: JBIC) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทย โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับผู้ว่าการธนาคาร JBIC อีกครั้ง หลังจากการพบหารือกันครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทย และใน EEC รวมทั้งในปีนี้เป็นปีครบรอบ 135 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรียินดีที่การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาสำเร็จลุล่วงเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น และเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ
ผู้ว่าการธนาคาร JBIC ยินดีที่มีโอกาสได้หารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือในกรอบ ACMECS ซึ่ง JBIC ดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน EEC พร้อมหวังว่าจะได้หารือ เรื่องรูปแบบทางการเงินในการลงทุนใน EEC ในรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ JBIC ยินดีที่ทราบว่านายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 หวังว่าจะได้หารือระหว่างกันเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินใน EEC โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณ JBIC ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการฯ โดยไทยให้ความสำคัญกับหลักการ 5 ข้อสำหรับการดำเนินการตามมาตรฐานโลก ได้แก่ ความโปร่งใส ความยั่งยืน ความครอบคลุม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการใช้บังคับกฎหมาย ซึ่งไทยสนับสนุนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทยมากขึ้นทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ซึ่งผู้ว่าการธนาคารJBIC ยินดีสนับสนุนภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเอกชนญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตตู้รถไฟ และระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้ง มีความสนใจที่จะเข้ามามีบทบาทในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ JBIC มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เอกชนญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาลงทุนในไทย รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยไทยยินดีที่ญี่ปุ่นได้จัดตั้งสถาบัน KOSEN สองแห่งในไทย ซึ่ง JBIC ได้ชื่นชมบทบาทนายกรัฐมนตรีที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง JBIC มีประสบการณ์ และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในด้านด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น