Green Hospital แค่ติดโซล่าเซลล์ช่วย รพ. ลดค่าไฟปีละล้านบาท - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2568

Green Hospital แค่ติดโซล่าเซลล์ช่วย รพ. ลดค่าไฟปีละล้านบาท



การประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาหัวข้อที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ "Green Hospital นวัตกรรมพลิกโฉมโรงพยาบาลสู่พลังงานสะอาด" ซึ่งมีการเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และ โรงพยาบาลเกาะสีชัง จ.ชลบุรี มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าทางเลือกจากโซล่าเซลล์ในโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อปี


นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา เล่าถึงประสบการณ์การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ในโรงพยาบาลว่า ย้อนกลับไปปี 2560 ขณะนั้นตนยังเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ด้วยเหตุนี้จึงได้ติดโซล่าเซลล์ 52 กิโลวัตต์ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากพลังไฟฟ้าจากถ่านหิน



นพ.สุภัทร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าซึ่งเชื่อว่าทุกโรงพยาบาลเป็นเหมือนกัน คือ ช่วงกลางคืนใช้ไฟน้อย แต่ประมาณ 8.00-9.00 น. การใช้ไฟจะ Peak ขึ้นมาเพราะทุกห้องเปิดแอร์หมด แล้วช่วงเที่ยงปริมาณการใช้ไฟจะลดลงมาเนื่องจากมาตรการประหยัดไฟของโรงพยาบาล เช่น ปิดไฟ ปิดแอร์ ฯลฯ แล้วมาพีคอีกครั้งในช่วงบ่าย จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงเย็น และ หากดูบิลค่าไฟ ทุกโรงพยาบาลจะเป็นเหมือนกันคือเป็นบิลค่าไฟฟ้าแบบ TOU (Time of use) ซึ่งจะมีค่าไฟ 2 ส่วน ส่วนแรกคือค่า Peak หรือค่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งการไฟฟ้าจะเอาค่า Peak ที่สูงที่สุดมาคิดเงิน ดังนั้น ยิ่งมีค่า Peak มากก็โดนเก็บเงินเยอะ และส่วนที่ 2 คือค่าพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าไฟของทั้งเดือน

"ดังนั้น ถ้าลด Peak ได้ก็จะประหยัดค่าไฟที่ต้องจ่ายลงได้ ซึ่งโซล่าเซลล์ตอบโจทย์นี้มากที่สุด มันสมดุลกัน ตอนที่แดดออกมาก 8.00-9.00 น. ก็เป็นช่วง Peak ของการใช้ไฟ หรือวันไหนเมฆครึ้ม ฝนตก วันนั้นเราก็ไม่ค่อยใช้แอร์กันมาก การใช้ไฟฟ้าก็ไม่มากด้วย"นพ.สุภัทร กล่าว


อย่างไรก็ดี นอกจากติดตั้งโซล่าเซลล์แล้ว โรงพยาบาลจะนะยังทำอีกหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นแบบ Invertor ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานไปส่วนหนึ่ง รวมทั้งติดฟิล์มกันความร้อนในห้องที่โดนแสงแดด ซึ่งช่วยลดการใช้แอร์และประหยัดไฟลงได้ 10% แต่หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนเวลาใช้เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า และเครื่อง Sterile ซึ่งเป็น 3 อุปกรณ์ที่กินไฟมากที่สุดประมาณ 30-50 กิโลวัตต์ ให้มาทำในช่วง off Peak โดยให้ทำให้เสร็จก่อน 9.00 น. ซึ่งเป็นช่วงก่อน Peak โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มเข้างานตั้งแต่ 5.30-6.00 น. แต่จะได้เลิกงานเร็วกว่าปกติด้วยเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการติดโซล่าเซลล์คือเปลี่ยนเวลาซักผ้า อบผ้า นึ่งเครื่องมือ เพื่อลดค่า Peak ในการใช้ไฟ


ทั้งนี้ หลังจากย้ายมาอยู่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ตนก็ติดตั้งโซล่าเซลล์อีก โดยติดไป 115 กิโลวัตต์ ซึ่งช่วยลดค่าไฟไปได้เดือนละประมาณ 1 แสนบาท ดังนั้นหากโรงพยาบาลต่างๆ ตั้งเป้าลดค่าไฟลง 1 ล้านบาท/ปี เชื่อว่ามีความเป็นไปได้และจะดียิ่งขึ้นถ้าเปลี่ยนเวลาซักผ้าด้วย

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้เชื่อว่ามีโรงพยาบาลจำนวนมากแล้วที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ แต่อยากชวนโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้ใช้ให้หันมาใช้ดู ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียว ทยอยเป็นเฟสไปก็ได้ คิดคร่าวๆ คือติดโซล่าเซลล์ 100 กิโลวัตต์ ค่าไฟจะลดลงเกือบ 1 ล้านบาท/ปี ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้จะมีต้นทุนประมาณกิโลวัตต์ละ 30,000 บาท เราอาจจะใช้วิธีรับบริจาคหรือขอความอนุเคราะห์จากวัดหรือภาคเอกชน โดยทำความเข้าใจว่างบประมาณที่ประหยัดได้นั้นจะนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มาให้บริการผู้ป่วย เชื่อว่าถ้าอธิบายให้เข้าใจจะมีคนพร้อมบริจาค นอกนั้นอาจต้องมีการสำรวจหลังคาว่าสามารถรับน้ำหนักได้หรือไม่ หากหลังคาเก่าแล้วก็อาจต้องเปลี่ยนหลังคาก่อน


"ผมเชียร์ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์เพราะช่วยลดค่าไฟโรงพยาบาลลงนับล้านบาทได้ไม่ยาก และระบบมันมีอายุการใช้งาน 25 ปี ติดตั้งแค่ 4 ปีก็คืนทุนแล้ว ปีที่เหลือคือกำไรล้วนๆ ส่วนค่าใช้จ่ายระหว่างนั้นอาจต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ Converter เพราะอุปกรณ์ตัวนี้มีอายุการใช้งาน 10 ปี ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 10-15% ของมูลค่ารวมของระบบทั้งหมด นอกนั้นก็ค่าบำรุงรักษาเช่นล้างทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ให้สะอาดไม่มีฝุ่นเกาะ มันไม่เสียจริงๆนะ ตอนผมติดปี 2560 จนถึงตอนนี้ยังทำงานได้ดีอยู่เลย แล้วเป็นระบบคุณภาพที่ทำง่ายที่สุดแล้ว"นพ.สุภัทร กล่าว

ด้าน ทพญ.อานะสิทธิ์ ศัลยพงษ์ ทันตแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลเกาะสีชัง จ.ชลบุรี กล่าวว่า เกาะสีชัง เป็นอำเภอเล็กที่สุดในประเทศไทย อยู่ห่างจากฝั่ง อ.ศรีราชาประมาณ 12 กม. ส่วนโรงพยาบาลเกาะสีชังก็เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีเตียง 10-15 เตียง เดิมทีเกาะสีชังรับไฟฟ้าผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลจาก อ.ศรีราชา แต่ปี 2556 สายเคเบิลถูกสมอเรือเกราจนขาด ทำให้ต้องกลับมาใช้เครื่องปั่นไฟ

"pain point คือค่าใช้จ่ายสาธารณูประโภค เช่น ค่าน้ำ ตันละ 150 บาท ขณะที่บนฝั่งแค่ตันละ 10 บาท นอกจากนี้ ด้วยความที่ใช้เครื่องปั่นไฟทำให้มีปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย เราจึงนึกถึงนวัตกรรมโซล่าเซลล์ แต่เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเงิน เราจึงขอความอนุเคราะห์จากบริษัทไทยออยล์ ซึ่งได้ส่งทีมวิศวกรมาสำรวจพื้นที่ วิเคราะห์บิลค่าไฟ จากนั้นก็ติดตั้งโซล่าเซลล์ 53.46 กิโลวัตต์ โดยใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาด 330 วัตต์ จำนวน 162 แผง ผลเกิดการติดตั้งโซล่าเซลล์ทำให้โรงพยาบาลประหยัดค่าไฟได้ปีละ 3 แสนบาท" ทพญ.อานะสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากระบบโซล่าเซลล์เฟส 1 ได้ผลดี โรงพยาบาลเกาะสีชังจึงขยายไปสู่เฟส 2 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทไทยออยล์อีกเช่นเคย มีการส่งทีมวิศวกรมาสำรวจอีกและช่วยเปลี่ยนหลังคาที่รองรับการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้ฟรี จากนั้นก็ติดตั้งโซล่าเซลล์เพิ่มอีก 52.7 กิโลวัตต์ ใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาด 620 วัตต์ จำนวน 85 แผง


"จะเห็นว่าใช้พื้นที่น้อยลงกว่าเฟส 1 เพราะตัวเทคโนโลยีแผงโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปรวดเร็วมาก โดยรวมแล้วค่าไฟลดลงอย่างชัดเจนเฟสละ 3 แสนบาท รวม 2 เฟสก็ประหยัดได้ 6 แสนบาท/ปี เงินที่ประหยัดได้นี้ โรงพยาบาลนำไปลงทุนบริการทางการแพทย์ เช่น จัดจ้างบุคลากร ซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่อผู้รับบริการ" ทพญ.อานะสิทธิ์

ทพญ.อานะสิทธิ์ กล่าวอีกด้วยว่า การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ นอกจากช่วยเรื่องประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่และชุมชน สร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมในการนำพลังงานสะอาดมาใช้ ปัจจุบันเทศบาลมีโครงการติดตั้งโซล่าเซลล์แก่ครัวเรือนที่ไม่มีสายส่งไฟฟ้า และจะมีการวางเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ มีแผนติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม แบบไมโครกริดอีก 6 เมกะวัตต์ ดังนั้น ตอนนี้ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลสีเขียว แต่เกาะสีชังก็จะเป็นสีเขียวด้วย

นพ.พรอนันต์ โดมทอง ผู้เยี่ยมสำรวจ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า เวลาเยี่ยมสำรวจ ในส่วนของระบบ ENV จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่เวลาตรวจประเมินมันจะเห็นชัดว่ามีหรือไม่มี ต่างจากมาตรฐานส่วนอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน และถ้าเชื่อมกับมาตรฐาน HA นอกจากมาตรฐานตอนที่ 2 ที่เกี่ยวกับงาน ENV แล้ว ยังเชื่อมไปถึงตอนที่ 1 เช่น มาตรฐานตอนที่ 1-4 การวัดวิเคราะห์ มีการใช้ข้อมูลค่าไฟ แยกรายวัน รายเวลา รายหน่วยงาน ถือว่ามีการวัดวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การออกแบบกระบวนการ รวมทั้งสามารถตอบมาตรฐาน 1-6 ในส่วนของการปฏิบัติงาน ว่าสิ่งที่วิเคราะห์นั้นนำไปสู่การออกแบบกระบวนการใหม่อะไรบ้าง ทั้งการ Design คือไม่เคยมีและทำให้มีขึ้นมา หรือการ Re-Design คือมีอยู่แล้วและทำให้ดียิ่งขึ้น

"สิ่งที่ทั้ง 2 โรงพยาบาลมาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ มีมากกว่าการติดโซล่าเซลล์ แต่เชื่อมไปถึง Mindset ของคนในโรงพยาบาล บางโรงพยาบาลติดแอร์หลายตัวในห้อง ICU ไม่เคยปิดประตู หรือห้องตรวจช่วง 12.00 - 13.00 น. ไม่มีหมอออกตรวจ แต่เปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จะมีพลังงานสำรองเท่าไหร่คงไม่พอ ซึ่งเทรนด์ของงานคุณภาพในอนาคต ยังพูดถึงเรื่อง Environment Sustainability และทั้ง 2 โรงพยาบาลนี้ทำให้เห็นภาพชัดว่า Environment Sustainability เป็นอย่างไร"นพ.พรอนันต์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น