ผู้ว่าฯ กทม. สัญจรเขตบางรัก ชูอัตลักษณ์เมืองเก่าย่านเศรษฐกิจ...D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ กทม. สัญจรเขตบางรัก ชูอัตลักษณ์เมืองเก่าย่านเศรษฐกิจ...D

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากการประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตบางรัก ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ว่า เขตบางรักเป็นเขตที่ไม่ใหญ่มาก มีพื้นที่ 5.536 ตร.กม. มีประชากรประมาณ 40,000 คน แต่เป็นเขตเศรษฐกิจ สำหรับปัญหาหลัก ๆ ที่เร่งด่วน คือ เรื่องรายได้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จากการที่เปลี่ยนการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่เก็บตามรายได้ตามอัตราประมาณ 12.5 % ของรายได้ ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด เราเก็บภาษีได้ประมาณ 950 ล้านบาท พอเปลี่ยนไปเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปีนี้เก็บครบ 100 %แล้ว ลดจาก 950 ล้านบาท เหลือ 730 ล้านบาท เพราะมีการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บ จากรายได้มาเป็นราคาประเมินของที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง ทำให้รายได้ของเขตลดลง ถามว่าทำไมต้องดูที่เขตบางรัก เพราะมีการประเมินค่อนข้างละเอียดและเก็บครบเพราะพื้นที่ไม่ใหญ่ ต้องเร่งประสิทธิภาพในการเก็บ อาจจะต้องหาตัวอื่นเข้ามาประกอบ เช่น ภาษีป้าย หรือมิติอื่น เพราะเป็นสิ่งสำคัญ จริง ๆ แล้วรูปแบบการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคงต้องเร่งรัดและดูเรื่องรายได้เพิ่มเติม
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องหาบเร่แผงลอย เขตบางรักเป็นเขตที่มีคนทำงานจำนวนมาก กลางวันจะมีพนักงานที่ต้องหาอาหารกลางวันทาน จะเห็นว่าตามถนนหนทางบางจุดจะมีปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอย ได้มีการผลักดันโดยทางเท้าถนนสีลมจะมีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งได้ให้นโยบาย ผอ.เขตว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง เพราะว่าทางเท้าที่ทำใหม่จะเริ่มมีหาบเร่แผงลอยกลับเข้ามา นโยบายคือห้ามเพิ่มจำนวนหาบเร่ ห้ามกีดขวาง ต้องมีทางให้คนเดินได้ โดย กทม. เริ่มหาพื้นที่ทดแทนให้ เช่น อยู่เส้นทางหลักบนถนนสีลม หรืออาจจะดูซอยที่มีที่ให้ผู้ค้าขยับเข้าไปได้ เช่น ศาลาแดงซอย 2 หรือพื้นที่เอกชนบางจุด ที่สามารถนำหาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่พื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ รวมถึงอีกมิติหนึ่งคือการทำศูนย์อาหาร (hawker center) ที่สวนลุมพินี ประตู 5 ซึ่งเป็นร้านหาบเร่ที่มารวมกัน ถ้าเป็นไปได้ก็นำผู้ค้าบางส่วนย้ายเข้าไปในจุดนั้น ทางออกสุดท้ายคือคุยกับผู้ประกอบการในถนนสีลมให้แจ้งมาหากขาดแคลนแรงงาน เช่น ขาดแม่บ้าน รปภ. เพราะในช่วงโควิดบางคนกลับไปบ้านแล้วไม่ได้กลับมา
“ถ้าเราสามารถเปลี่ยนคนที่ทำหาบเร่แผงลอย โดยความต้องการที่ตรงกันได้ (matching) ให้เขาหลุดจากการเป็นหาบเร่ริมถนน มีงานที่มีความมั่นคงขึ้น การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย คงไม่ใช่มิติที่จะไล่อย่างเดียว ต้องมองผลกระทบในแง่เชิงสังคมด้วย แต่เน้นว่าห้ามมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น เพราะว่าไม่ใช่สวัสดิการสังคม แต่เป็นเหมือนสิ่งที่ทำต่อเนื่องมา ปัญหาหนึ่งคือ เขาเบียดเบียนพื้นที่สาธารณะอยู่ อย่างที่บอกต้องมีหลายมาตราการ จุดอื่นของสีลมที่มีปัญหาก็จะพยายามไล่ให้ครบ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ในส่วนของทางเดินเท้าให้เขตกำหนดเส้นทาง เพราะมีนโยบายเรื่องเมืองเดินได้ ซึ่งเขตมีงบประมาณที่เราจัดสรรให้ได้ในการซ่อมถนนทางเท้า ให้จัดลำดับทางเท้าที่ต้องปรับปรุงคุณภาพเร่งด่วน และใช้งบของเขตทำให้ได้ก่อน ถ้าไม่พอให้ขอมาที่ส่วนกลาง ซึ่งเมืองเดินได้เป็นเรื่องสำคัญของเส้นเลือดฝอยลงสู่ชุมชน ในพื้นที่สีลมทำได้ค่อนข้างดีแล้ว ส่วนจุดอื่นที่มีคนเดินเยอะให้เขตเริ่มสำรวจและทำแผนปรับปรุงเลย
• ดึงชุมชนร่วมซ้อมดับเพลิงพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน

ส่วนชุมชนในสีลม ปัญหาหนักคือเรื่องเพลิงไหม้เพราะอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งได้มอบหมายให้ ผอ.เขตร่วมกับหน่วยดับเพลิงและอาสาสมัครกู้ภัย ดำเนินการซ้อมดับเพลิง โดยจำลองเหตุการณ์ว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินตรงไหนคือที่ดับเพลิงมือถือ จุดประปาหัวแดง รวมถึงให้ชุมชนแต่ละบ้านดูแลเรื่องฟืนไฟ

“เมื่อวานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่น่าเสียใจ นราธิวาสฯ ซอย 6 (เขตสาทร) มีน้องผู้หญิงอายุ 12 ปี เสียชีวิต ผมว่าตอนเกิดเหตุทุกคนก็สับสน พอถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินคนที่ต้องการความช่วยเหลือบางทีอาจไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้นต้องมีการซักซ้อมว่า เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินใครจะดูแลใคร จะรวมพลที่จุดไหน ให้รู้ว่าถึงจุดนั้นคนหายไปคนหนึ่งนะ ถ้าเกิดไม่มีจุดรวมพล ไม่มีการมอบหมายว่าใครดูแลใคร ก็จะเกิดความวุ่นวาย และสุดท้ายคนที่หายไปก็อาจจะไม่เจอ ซึ่งขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อมในเบื้องต้น เมื่อสักครู่ได้คุยกับทางดับเพลิง แจ้งว่าบางครั้งฝึกแล้วไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ก็ต้องขอความร่วมมือจากชุมชนด้วยเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะป้องกันการสูญเสียได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

ขณะเดียวกันเรื่องการศึกษาในเขตบางรักมีความน่าสนใจ กล่าวคือ เขตบางรักมีโรงเรียน 5 แห่งโดยทั้งหมดเข้าโครงการ “นวัตกรรมใหม่” กทม. นำโรงเรียนเข้าโครงการ Sandbox หรือเขตนวัตกรรมทางการศึกษา ทำให้สามารถปรับเรื่องการศึกษาให้ดีขึ้น และได้มอบนโยบายเพิ่มเติม เรื่องการจัดอาหารกลางวันเด็กที่ต้องเน้นคุณภาพ ความโปร่งใส ห้ามมีเก็บหัวคิวหรือคุณภาพไม่ดี และให้ดูเรื่องของคุณค่าโภชนาการ ที่ให้มีผักสด หรือสลัดมากยิ่งขึ้น ให้เด็กมีทางเลือกในการกินอาหารที่มีคุณภาพ และอย่ากินขนมมาก โดยได้ให้ ผอ.เขต ไปพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม

อีกเรื่องที่น่าสนใจของเขตบางรัก คือ เรื่อง Food Bank โดยที่ร้านอาหารสามารถนำอาหารใกล้หมดอายุ หรือทานไม่หมดมาไว้ที่ Food Bank แล้วให้คนอื่นไปบริโภคต่อได้ หรือการบริจาคสำหรับคนที่เดือดร้อนได้ ซึ่งทางเขตก็ได้เริ่มทำ โดยมอบรองผู้ว่าฯ ศานนท์ นำไปขยายผล ซึ่งเป็นโครงการที่ดีลดการสูญเสียอาหาร และช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

• ดูแลความเรียบร้อยของเมืองรับการประชุมเอเปค

ด้านความเรียบร้อยของหาบเร่แผงลอย ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวว่า มีการประกาศตั้งแต่ต้นเดือนว่าจะให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งหาบเร่มีมานานแล้ว กทม. พยายามทำให้เป็นระเบียบ และผลักดันไปสู่พื้นที่ด้านใน แต่หากจะให้หมดไป 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน ซึ่งเราไม่ได้ใช้ไม้แข็ง อย่างแรกคือห้ามสกปรกรกรุงรัง คนต้องเดินได้ ขณะเดียวกันต้องหาทางออกให้เขาด้วยเป็นการดูแล แต่นโยบายเราไม่ให้เพิ่มจำนวนเช่นกัน ที่ผ่านมาได้พยายามกดดันตลอด ทั้งนี้การขจัดให้หมดก็ต้องมีทางออกสำหรับคนที่ทำมานานด้วยเช่นกัน อาจจะต้องให้เวลา ซึ่งเดดไลน์หลัก ๆ คือต้นปีหน้าที่จะเคลียร์หาทางออกให้หมด ในตอนนี้จึงห้ามเพิ่มและห้ามขวางการเดินเท้า

“เราไม่ได้เน้นเรื่องผักชีโรยหน้า เราทำเพื่อคนไทย เราไม่ได้ทำเพื่อให้ต่างชาติที่มาวันนั้นรู้สึกว่าเมืองไทยสะอาด การทำคืออยากให้คนไทยได้ใช้เดินสะดวก ส่วนเรื่องความสะอาดผู้นำที่มาส่วนตัวคิดว่าผ่านมาหลายเมืองแล้ว และมาเมืองไทยช่วงไม่มีประชุมก็ต้องเห็นสภาพเหมือนกัน ในแง่หนึ่งก็ให้ดูสะอาดขึ้น แต่หัวใจหลักคือทำเพื่อคน กทม. ส่วนตัวคือว่าไม่ได้สำคัญขนาดที่จะต้องเคลียร์หาบเร่แผงลอยให้ผู้นำต่างประเทศมาแล้วรู้สึกสะอาด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ส่วนเย็นวันนี้ที่สวนเบญจกิติ จะมีการเปิดน้ำพุ ซึ่งจริง ๆ แล้วน้ำพุเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ชำรุดไปช่วงที่ทำเขื่อน ล่าสุดเมื่อคืนไปดูมา ตนมองว่าสวยดี ลักษณะการสานกันของน้ำพุ สอดคล้องกับโลโก้ของเอเปค ซึ่งเป็นรูปชะลอม อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักคือประชาชน จะได้ชื่นชมกับความสวยงามของน้ำพุ ถ้ามีเวลาก็ขอเชิญประชาชนมาร่วมชมน้ำพุก่อนจะปิดสวนเบญจกิติในวันที่ 14-20 พ.ย. 65 นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น