กทม. จับมือ บช.น. หารือ 8 เรื่องสำคัญ บูรณาการการทำงานแบบไร้รอยต่อ เน้นประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กทม. จับมือ บช.น. หารือ 8 เรื่องสำคัญ บูรณาการการทำงานแบบไร้รอยต่อ เน้นประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

“วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสต้อนรับ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และทีมงาน ที่ได้มาหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งในการให้บริการประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานแบบไร้รอยต่อคือหัวใจที่ทำให้สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในวันนี้ (1 ส.ค. 65) โดยมี พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องต่าง ๆ 8 เรื่อง ได้แก่

1. ด้านการจราจร หารือในเรื่องการลดอุบัติเหตุ การเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง การบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งการทำงานของกทม.จะดูแลพื้นที่บนทางเท้า (footpath) และกล้อง CCTV ส่วนการทำงานของตำรวจจะดูแลพื้นที่บนถนน และการควบคุมสัญญาณไฟ จึงต้องมีการทำงานร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งนี้ ทางตำรวจได้มีการรวบรวมจุดเสี่ยงต่าง ๆ เช่น จุดที่มีรถติดขัด จุดที่มีน้ำท่วมขัง จุดที่มีความเสี่ยงอันตราย ซึ่งต่อไปกทม.จะนำมาซ้อนกับแผนที่จุดเสี่ยง เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ที่ประชุมได้เห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยร่วมกันระหว่างกทม.และตำรวจเพื่อดูแลเรื่องการจราจรโดยตรง

2. ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และร่างกายของประชาชน หารือในเรื่องการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น โดยได้มีการพูดถึงการสำรวจปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ พบปัญหาเรื่องแสงสว่าง 172 จุด ไม่มีกล้อง CCTV 129 จุด ปัญหาจุดอับ/จุดอันตรายตามตรอก ซอก ซอย 18 จุด และมีการพูดถึงโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการผสมผสานแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เข้ากับแนวคิดที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกคน ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน และสื่อมวลชนทุกแขนง ในการวิเคราะห์สภาพพื้นที่และคัดเลือกพื้นที่ร่วมโครงการ และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการนำร่องในระยะแรกกับสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 แห่ง ได้แก่ สน.ห้วยขวาง สน.ลุมพินี สน.ภาษีเจริญ และในอนาคตจะเพิ่มอีก 9 แห่ง เช่น สน.มักกะสัน สน.สายไหม สน.มีนบุรี สน.โชคชัย สน.ทองหล่อ เป็นต้น

3. ด้านยาเสพติด หารือในเรื่องการลดการแพร่กระจายของยาเสพติดอื่น ๆ ในพื้นที่ การป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการยกเว้นให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ โดยได้มีการรายงานสถิติการจับกุมที่ผ่านมา (1 ต.ค. 64 - 30 ก.ค. 65) ดังนี้ ยาบ้า กว่า 21 ล้านเม็ด ยาไอซ์ กว่า 1,300 กก. กัญชา กว่า 8,000 กก. เฮโรอีน กว่า 91 กก. เคตามีน กว่า 553 กก. ยึดทรัพย์ กว่า 692 ล้านบาท ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์คัดกรอง 20 แห่ง ซึ่งเปิดให้บริการเพื่อรองรับการนำส่งผู้ต้องสงสัยว่าเสพยาเสพติดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยศูนย์คัดกรองจะดำเนินการคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต ตรวจหาสารเสพติดในร่างกายเพื่อประกอบการประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด พิจารณาส่งต่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยเปิดให้บริการระหว่างเวลา 08.00 - 12.00 น. แต่ปัญหาที่พบคือศูนย์ฯ ส่วนใหญ่เปิดทำการเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์ มีเพียง 8 แห่ง ที่เปิดในวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อาจจะมีการหาแนวทางในการขยายเวลาให้เหมาะสม และนำเครือข่ายของชุมชนมาเป็นตัวร่วมในการต่อต้านยาเสพติด

4. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หารือในเรื่องการพัฒนา software การใช้ ai เพื่อให้การใช้กล้อง CCTV มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับผู้กระทำการผิดกฎหมาย/ผู้ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงการนำกล้องของเอกชนมาเป็นแนวร่วมด้วย นอกจากนี้ได้มีการรายงานผลสำรวจจำนวนกล้อง CCTV และเสนอติดตั้งเพิ่มเติมตามจุดต่าง ๆ ได้แก่ ตามแผนการรับเสด็จ เขตพระราชฐาน โรงพยาบาล/สถานศึกษา/สถานที่ราชการ พื้นที่ชุมชน สถานีขนส่ง จุดเสี่ยงอาชญากรรม เส้นทางจราจร

5. ด้านการชุมนุมเรียกร้อง และความมั่นคง หารือในเรื่องการจัดสถานที่ชุมนุมให้มีความเหมาะสม และการควบคุมการชุมนุมให้สามารถแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพภายใด้กรอบกฎหมายกำหนด โดยการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ยังคงมีการห้ามการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่อาจเกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสและสามารถแพร่โรค เว้นแต่การจัดกิจกรรมนั้นได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะที่ผ่านมาช่วยลดความวุ่นวายลงได้ทั้งการจราจรและทางกฎหมาย ในส่วนของความมั่นคง ที่ประชุมเห็นควรให้มีการประชุม กอร.มน.กทม. เพื่อประสานความร่วมมือกันต่อไป

6. ด้านเศรษฐกิจ หารือในเรื่องการอำนวยความสะดวกสถานบริการ ธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องพื้นที่ zoning ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งสถานบริการ ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 zoning ได้แก่ ย่านพัฒน์พงษ์ รัชดาภิเษก และเพชรบุรีตัดใหม่ ตำรวจรายงานว่า ภาพรวมผู้ขอต่อใบอนุญาตมีจำนวนลดลง เพราะผู้อยู่นอก zoning จะไม่ได้รับอนุญาต ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการพิจารณากำหนด zoning และขยายระยะเวลา เพื่อให้สถานบริการสามารถขออนุญาตได้ กลับเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าควบคุมดูแลได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

7. ด้านการประชุม APEC ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 กทม.เป็นเจ้าภาพร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ จากการข่าวที่คาดว่าน่าจะมีความไม่สงบเรียบร้อย ทางตำรวจจึงมีการเตรียมความพร้อมและเสนอแนะให้มีการตั้งอาสาสมัครพิทักษ์เมือง โดยจัดอบรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พนักงานรักษาความสะอาด วินมอเตอร์ไซค์ รปภ. เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตา

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่ทางตำรวจขอมาเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะกทม.มีพนักงานรักษาความสะอาดเป็นหมื่นคนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นหูเป็นตาที่ดีมากในการช่วยเหลือด้านความปลอดภัย โดยทางตำรวจได้กรุณาอบรมพนักงานกลุ่มนี้ให้ทราบว่าควรสังเกตอะไร ระวังอะไร สิ่งน่าสงสัยมีอะไรบ้าง และการแจ้งเหตุต้องทำอย่างไร เพื่อช่วยดูแลอาคันตุกะผู้มาเยือนจากทั้ง 21 ประเทศ (เขตเศรษฐกิจ)

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวเสริมว่า หลังจากการอบรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 2 หมื่นคน ให้แจ้งข่าว APEC จะสานต่อให้เป็นการแจ้งข่าวอาชญากรรมให้กับพี่น้องประชาชนด้วย และทุกเรื่องจะมีการตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานย่อย และจะมีการติดตามความคืบหน้ากันเป็นระยะต่อไป

8. ด้านการใช้ Traffy Fondue สำหรับแจ้งเหตุต่าง ๆ ทางตำรวจจะเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ไร้รอยต่อ ซึ่งในกรุงเทพมหานครมี สน. จำนวน 88 แห่ง

“ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ต้องขอขอบคุณท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่กรุณายกทีมมาหารือกันและเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ทำไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว แต่การร่วมมือกันจะทำให้การไหลของข้อมูลสะดวกขึ้น กทม.จะสนับสนุนในส่วนที่สามารถทำได้ และขยายผลให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย   (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok.com) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น